รฟม. ยันรถไฟฟ้าระบบ ART ช่วยลดต้นทุน 40% นำร่องจ.ภูเก็ต

ผู้ชมทั้งหมด 563 

รฟม.เดินหน้าลงทุนรถไฟฟ้าระบบ ART นำร่องจ.ภูเก็ต โคราช เชียงใหม่ ยันช่วยลดต้นทุนได้กว่า 40% จากเดิมศึกษาเป็นระบบ “แทรม” พร้อมลงพื้นที่ชี้แจงภาคเอกชน พ.ย.นี้ หวังเสนอครม.ปี 65 ขณะที่จ.พิษณุโลกชะลอการศึกษา   

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบาในภูมิภาค ว่า ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ให้เปลี่ยนแผนการลงทุนพัฒนารถไฟฟ้าล้อยาง (Automated Rapid Transit : ART) จากแผนเดิมจะดำเนินการพัฒนาเป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (แทรม) นั้น

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 รฟม.เตรียมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรม และผู้นำชุมชน ที่ยังมีความคิดเห็นแตกต่าง และต้องการให้ลงทุนพัฒนาเป็นรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (แทรม) เช่นเดิม

ทั้งนี้การลงทุนพัฒนารถไฟฟ้า ART นั้น เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นการใช้ระบบดังกล่าว สามารถช่วยลดวงเงินการก่อสร้างได้ประมาณ 40% ทั้งนี้จะนำร่องที่โครงการแทรมภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท หากเปลี่ยนมาเป็น ART ช่วยลดต้นทุนค่าก่อสร้างได้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท

“ประสิทธิภาพการใช้งานระบบ ART นั้นก็ไม่ได้แตกต่างกับระบบแทรมมากนัก ความจุผู้โดยสารใกล้เคียงกัน แต่ระบบ ART การลงทุนถูกลงสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้น้อยลง ดังนั้นหากจะให้โครงการเกิดได้เร็ว จึงต้องช่วยกันลดต้นทุนโครงการฯ” นายภคพงศ์ กล่าว

โดยหลังจากลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรม และผู้นำชุมชนแล้วก็ต้องดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนอีกครั้ง และต้องดำเนินการปรับปรุงรายงานการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) คาดว่าประมาณต้นปี 2565 รฟม. จะสามารถเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่าจะได้รับอนุมัติจาก ครม. ในไตรมาส 4/256 และเริ่มขั้นตอนการประกวดราคา (ประมูล) ในปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 2570

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาคในจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ระยะทาง 15.8 กิโลเมตร และโครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร ก็จะดำเนินการเปลี่ยนมาเป็นระบบ ART เช่นกัน

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง (มหาวิทยาลัยพิษณุโลก – เซ็นทรัลพลาซ่า) ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร ยังไม่ได้ศึกษา ต้องรอแผนงานการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อน เพราะผลการศึกษาเบื้องต้นของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ระบุว่าปริมาณผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการขึ้นอยู่กับการเปิดใช้สถานีรถไฟไฮสปีดที่ จ.พิษณุโลกด้วย ดังนั้นหากก่อสร้างไปก่อนอาจไม่มีผู้มาใช้บริการ