ผู้ชมทั้งหมด 570
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชน โดยสรุปว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทมีข้อเสนอทางด้านการลงทุนและผลตอบแทนที่ใช้ในการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2563 โดยขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธารวม 79,820.40 ล้านบาท และจ่ายเงินตอบแทนให้แก่ รฟม. รวม 70,144.98 ล้านบาท รวมยอดเงินขอสนับสนุนจากภาครัฐ รวม 9,676 ล้านบาทนั้น
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า แม้ว่าข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของ BTSC ตามที่เป็นข่าวนั้นจะมีมูลค่าการให้ผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ค่อนข้างสูง แต่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนจะต้องมีการประเมินซองข้อเสนออื่นๆ ของผู้ยื่นข้อเสนอด้วย ไม่ว่าจะเป็นการประเมินซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และซองข้อเสนอด้านเทคนิค เพื่อให้ รฟม. มั่นใจได้ว่าผู้ยื่นข้อเสนอจะสามารถดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดต่อประเทศชาติและประชาชนได้จริง ซึ่งมิใช่การพิจารณาเพียงตัวเลขสรุปผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐเท่านั้น
ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะนำข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนในการยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เมื่อปี 2563 มาแสดง แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำตัวเลขมาเปรียบเทียบผลการยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนปัจจุบันได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และข้อเสนอด้านเทคนิคของบริษัทฯ จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่ รวมทั้งข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนมีความเป็นไปได้ ถูกต้อง และน่าเชื่อถือเพียงใด จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่าข้อเสนอของ BTSC จะเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐจริงตามที่ได้ปรากฏเป็นข่าวที่ได้เผยแพร่ทางสื่อมวลชน
ทั้งนี้ รฟม. มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวของ BTSC มีความแตกต่างจากผลการศึกษาที่ รฟม. นำเสนอขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรีไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลการศึกษาก็ได้ใช้สมมติฐานทางการเงินตาม MRT Assessment Standardization ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นสมมติฐานที่น่าเชื่อถือ และใช้ในทุกโครงการของ รฟม. รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และ สายสีเหลืองฯ ที่เอกชนรายดังกล่าวก็ได้ยื่นข้อเสนอโดยเสนอขอรับการสนับสนุนสุทธิเป็นไปตามผลการศึกษา จนกระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานด้วย
นอกจากนี้ รฟม. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การคัดเลือกเอกชนในปัจจุบันตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 มีลักษณะเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น มิได้มีลักษณะกีดกันเอกชนรายใด ตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลางได้มีคำวินิจฉัยและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวห้ามการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ซึ่งการที่เอกชนบางรายไม่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอการคัดเลือกนั้น น่าจะแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการเข้าร่วมดำเนินการโครงการฯ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)