รฟม.ก้าวสู่ปีที่ 33 ตอกย้ำแนวคิด Go Green Grow Together ลุยลงทุนใหม่ 5 โครงการ มูลค่า 1.18 แสนล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 493 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ครบรอบ 32 ปีที่เปิดดำเนินการมา โดยปัจจุบัน รฟม. มีโครงการรถไฟฟ้าในการกำกับที่อยู่ในช่วงของการเปิดให้บริการแล้ว จำนวน 4 สาย มีระยะทางรวมกัน 135.9 กิโลเมตร ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ระยะทาง 48 กิโลเมตร และสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ระยะทาง 23 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) ที่ให้บริการเดินรถในประเทศไทยมาแล้วมากกว่า 20 ปี รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (MRT สายสีเหลือง) มีระยะทาง 30.4 กิโลเมตร และสายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) มีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร โดยทั้งสายสีเหลือและสีชมพูนั้นเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail)

นอกจากนี้ยังมีโครงที่อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างอีก 3 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธา 69.99% ความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 49.95% ความก้าวหน้าโดยรวม 63.25% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีความก้าวหน้างานโยธา 38.22% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และการสำรวจสาธารณูปโภคต่างๆ โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2573

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาเสร็จสิ้นแล้วนั้น นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้กำชับให้ผู้รับสัมปทานเร่งจัดหาขบวนรถไฟฟ้าและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ก่อนในปี 2571

เร่งลงทุนใหม่ 5 โครงการในมือ มูลค่ารวม 1.18 แสนล้าน

นอกจากนี้รฟม.ยังได้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคตที่มีแผนงานในมืออีก 5 โครงการ ประกอบด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร ที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) ระยะที่ 1 นั้นในขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลนั้นเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) โดยตามแผนงานนั้นจะต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2569 กรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 42,000 ล้านบาท ส่วนโครงการอื่นๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็อาจจะต้องความชัดเจนจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และแผน M-MAP 2 ก่อน

นอกจากนี้ รฟม. ยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิด การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองของจังหวัดภูมิภาคอีก 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และพิษณุโลก ซึ่งปัจจุบัน รฟม. ได้เสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินโครงการ และรูปแบบการลงทุนต่างๆ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าใน 4 จังหวัดนั้นการศึกษาในเบื้องต้นเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) โดยการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ จากการศึกษาในเบื้องต้นมีระยะทาง 15.8 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดพิษณุโลก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 11.15 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 42 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนประมาณ 35,000 ล้านบาท โดยทั้ง 4 โครงการนั้นคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2571

รฟม.ก้าวสู่ปีที่ 33 ภายใต้แนวคิด Go Green Grow Together

นายวิทยา กล่าวว่า รฟม. ครบรอบ 32 ปี และกำลังย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 33 ยังคงดำเนินงานภายใต้แนวคิด “Go Green Grow Together” ด้วยการสานต่อภารกิจพัฒนาและขยายโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมืองที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบราง – ล้อ – เรือ ยกระดับการเดินทางแบบไร้รอยต่อให้แก่คนเมือง ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้วยความใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในทุกมิติ ผ่านกระบวนการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “Green Construction” เพื่อสร้างระบบขนส่งมวลชนพลังงานสะอาด “Green Transportation” พร้อมทั้งรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “Green Office” แก่บุคลากรของ รฟม. ตลอดจนชุมชนในแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้า มุ่งสู่เป้าหมายการสร้างสังคมสีเขียว หรือ Green Society

นอกจากการดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าแล้ว รฟม. ยังได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ระบบชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ระบบบริหารจัดการที่จอดรถอัตโนมัติ (MRTA Smart Parking) ซึ่งจะทำงานควบคู่กับแอปพลิเคชัน MRTA Parking บนสมาร์ทโฟน การเพิ่มช่องจอดรถด้วยที่จอดรถอัตโนมัติ (Robot Parking) ในลานจอดแล้วจร สถานีห้วยขวาง สถานีสามย่าน และสถานีเพชรบุรี และภายในปีนี้ รฟม. เตรียมเปิดจุดให้บริการ EV Charger ที่ตอบสนองต่อเทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (รถยนต์ EV) ของคนเมือง รวมถึงบริการ Taxi EV เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าเพิ่มอีกด้วย

ขณะเดียวกัน รฟม. ยังให้ความสำคัญกับการดูแลประสบการณ์ในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามหานครของผู้ใช้บริการ ด้วยทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและกู้ภัยทั้งของ รฟม. เอง และของผู้รับสัมปทาน ผู้ประกอบการเดินรถ ซึ่งสามารถประสานการทำงานร่วมกันเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่คนทุกคนที่เข้ามาอยู่ในเขตระบบรถไฟฟ้ามหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดให้มีบริการ MRTA Lost and Found ช่วยติดตามทรัพย์สินที่สูญหายขณะใช้บริการรถไฟฟ้ามหานครกลับคืน

พร้อมกันนี้ รฟม. ยังมีแผนที่จะสื่อสารเชิงรุกในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกสาธารณะในกลุ่มผู้ใช้บริการให้มากขึ้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามหานครที่เป็นมิตรต่อคนทุกกลุ่ม ทุกประเภท จูงใจให้ ประชาชนมีทัศนคติที่ดีและเลือกใช้รถไฟฟ้ามหานครที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดเป็นทางเลือกหลักในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อมลพิษทางอากาศ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน