รฟฟท. จ่อชงบอร์ด รฟท.ขยายเวลารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อีก 1 ปี

ผู้ชมทั้งหมด 56 

รฟฟท. เผย 30 ก.ย. นี้ ชงบอร์ด รฟท.สรุปผล-ขยายเวลารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อีก 1 ปี เหตุยอดผู้โดยสารพุ่งเกิน 50% ทำนิวไฮในเดือนสิงหาคม 67 คาดในปี 68 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20%

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงกรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต และช่วงกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมานั้น ถึงเวลานี้ ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 11 เดือนแล้ว พบว่า ผู้โดยสารให้การตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งนับเป็นนโยบายที่ประสบผลสำเร็จอย่างดี มีผู้โดยสารมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ตัวเลขผู้โดยสารที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อช่วงก่อนเริ่มนโยบาย คาดว่า จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15-20% จากจำนวนผู้โดยสารในขณะนั้นที่มีเฉลี่ย 1.9-2 หมื่นคนต่อวัน แต่ปัจจุบันเมื่อประกาศใช้นโยบาย 20 บาทตลอดสาย พบว่า ผู้โดยสารสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในอัตรากว่า 50% หรือมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 3 หมื่นคนต่อวัน และเมื่อปลาย ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา มีปริมาณสูงสุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ เฉลี่ย 4.2 หมื่นคนต่อวัน และเชื่อว่า ในปี 2568 ผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20%

สำหรับ ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการจำนวน 25 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 2 แสนคนต่อวัน ขณะที่ ภาพรวมผู้โดยสาร จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2566 มีจำนวน 7.79 ล้านคน ในส่วนของปี 2567 ระยะเวลา 9 เดือน (วันที่ 1 ม.ค. – 30 ก.ย. 2567) มีจำนวน 7,222,368 คน และคาดว่า ตลอดทั้งปี 2567 จะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 9 ล้านคน และคาดการณ์ว่า ในปี 2568 ภาพรวมผู้โดยสารจะอยู่ที่กว่า 12 ล้านคน

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน รฟฟท. เตรียมประชุมร่วมกับกรมการขนส่งทางราง(ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อสรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ก่อนเสนอข้อมูลไปยังที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ในวันที่ 30 ก.ย. 2567 เพื่อขอขยายเวลานโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดสายไปอีก 1 ปี จากที่จะครบกำหนดเวลาตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบในวันที่ 30 พ.ย. 2567 ประกอบกับเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อชดเชยรายได้ตามจริงที่หายไปประมาณ 10 บาท จากรายได้ค่าโดยสารเฉลี่ยประมาณ 30 บาทต่อคน ก่อนส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป