รฟท.แจงออกแบบชานชาลา-สะพานลอยคำนึงถึงความปลอดภัย

ผู้ชมทั้งหมด 845 

รฟท. แจงออกแบบหลังคาชานชาลาและสะพานลอยคนข้าม สถานีรถไฟชุมทางจิระ-ขอนแก่น คำนึงถึงความปลอดภัย ทั้งด้านการใช้งาน การระบายอากาศจากเขม่าควันรถ พร้อมพิจาจรณาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมภายหลัง

ผู้สื่อข่าวรายว่า ตามที่มีประเด็นข้อร้องเรียน เนชั่นทีวี ผ่านเว็บไซต์ ttps://www.nationtv.tv/news/378828776 กรณีหลังคาชานชาลาและสะพานลอยคนข้าม สถานีรถไฟชุมทางจิระ-ขอนแก่น ไม่สะดวกในการใช้งาน วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 โดยมีสาระสำคัญ คือ ประชาชน อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ร้องเรียนปัญหาการใช้บริการสถานีรถไฟ โครงการรถไฟรางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น เนื่องจากการก่อสร้างหลังคาชานชาลาผู้โดยสารพักคอยมีความสูงและความลาดเอียงที่ไม่เหมาะสม เมื่อฝนตกหนักหรือแดดส่องชาวบ้านไม่สามารถนั่งพักคอยได้ ขณะที่สะพานลอยก็มีความสูงชันมากเกินไป ผู้สูงอายุและผู้พิการไม่สามารถมาใช้บริการรถไฟได้

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงได้ชี้แจง ดังนี้ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วง ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ได้ดำเนินการก่อสร้างหลังคาชานชาลา สะพานลอย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในสถานีตามที่ผู้ออกแบบได้ออกแบบไว้ในขั้นตอนการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ดำเนินการศึกษา ซึ่งโดยหลักการแล้วโครงสร้างหลังคาคลุมชานชาลาตามรูปแบบที่ใช้โดยทั่วไปของการรถไฟฯ จะต้องมีความสูงและมีระยะห่างจากรางรถไฟเพียงพอเพื่อที่ให้พ้นจากเขตโครงสร้างซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินรถ  และเนื่องจากหัวรถจักรของการรถไฟฯ เป็นระบบรถดีเซลไฟฟ้า ซึ่งมีการปลดปล่อยเขม่าควัน การออกแบบจึงจะต้องคำนึงถึงเรื่องการระบายอากาศจากเขม่าและควันรถด้วย 

สำหรับในประเด็นของสะพานลอยคนข้ามนั้น เนื่องจากสถานีเป็นชานชาลาสูงจึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างสะพานลอยคนข้ามเพื่ออำนวยความสะดวกในการข้ามระหว่างชานชาลา และในการออกแบบความสูงของสะพานลอยคนข้ามในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่จำเป็นต้องออกแบบให้สูงจากระดับสันรางเพียงพอเพื่อให้ได้ระยะปลอดภัยที่ต้องการ ซึ่งเป็นความสูงที่เป็นมาตรฐานเผื่อไว้สำหรับการปรับเปลี่ยนเป็นระบบรถไฟฟ้าที่จะต้องมีการติดตั้งสายส่งไฟฟ้าเหนือตัวรถในอนาคต

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นลงแล้วในการปรับปรุงให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เช่น ที่พักผู้โดยสารที่สามารถกันแดดกันฝนได้บริเวณชาลา ตามที่ประชาชนร้องขอนั้น การรถไฟฯ สามารถพิจารณาดำเนินการได้ในภายหลัง และเนื่องจากปัจจุบันการรถไฟฯ อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ในเส้นทางอื่นๆ อีกด้วย จึงควรจะต้องพิจารณากำหนดรูปแบบสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อย่างไรก็ตามการรถไฟฯ จะรับข้อเสนอแนะดังกล่าวไว้พิจารณาดำเนินการให้มีความเหมาะสมสอดคล้องตามความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการต่อไป