รฟท.ปรับกรอบวงเงินรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 6 เส้นทาง หวังเปิดประมูลปลายปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 536 

รฟท.ปรับกรอบวงเงินรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย ชงครม.อนุมัติก่อนเปิดประมูลก่อสร้างสิ้นปี 65 พร้อมเร่งงาน PPP เดินรถ 6 เส้นทาง คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารปีแรกที่เปิดให้บริการครบทุกเส้นทางประมาณ 9 หมื่นคนต่อวัน รายได้ 50 ปีประมาณ 5.8 แสนล้านบาท

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8  กิโลเมตร (กม.), ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84  กม.ว่าตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบวงเงินโครงการดังกล่าวทั้ง 3 เส้นทางไปแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมาก ประกอบกับปัจจัยที่เดี่ยวกับต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จากเดิม 25 บาทต่อลิตร เป็น 35 บาทต่อลิตร หรืออัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากเดิม 31.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เป็น 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ รวมถึงค่าวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ

ดังนั้นรฟท. จึงต้องทบทวนวงเงินค่าก่อสร้างใหม่ โดยขณะนี้ได้เสนอขออนุมัติปรับกรอบวงเงินไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคา(ประมูล) งานก่อสร้างได้ในช่วงปลายปี 65 

นายนิรุฒ กล่าวว่า ที่ผ่านมาครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงิน ดังนี้ ช่วง ตลิ่งชัน-ศาลายา ครม. อนุมัติเมื่อเดือน ก.พ.62 วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท แต่มีงานก่อสร้างเพิ่ม 2 สถานี ได้แก่ สถานีบางกรวย-กฟผ. และสถานีสะพานพระราม 6 ทำให้กรอบวงเงินเดิมไม่เพียงพอ ต้องเสนอขอปรับเพิ่ม 468.09 ล้านบาท ส่งผลให้กรอบวงเงินใหม่อยู่ที่ 10,670.27 ล้านบาท ,ช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช ครม.อนุมัติเมื่อเดือน มี.ค. 62 วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท แต่ได้ปรับลดวงเงินลง 1,950.67 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานในส่วนของการจัดหาขบวนรถ 4 ตู้ 4 ขบวน ให้ไปอยู่ในส่วนของการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) งานเดินรถ งานระบบตั๋ว จัดหาขบวนรถ และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทำให้กรอบวงเงินใหม่อยู่ที่ 4,694.36 ล้านบาท

ส่วนช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ครม.อนุมัติเมื่อเดือน ก.พ. 64 วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ปัจจุบันมีการปรับแบบ แต่งานโยธาเปลี่ยนแปลงไม่มาก และปรับขอบเขตงานให้น้อยลง รวมถึงค่าเวนคืนที่ดินลดลง ส่งผลให้กรอบวงเงินลดลงจากเดิม 101.71 ล้านบาท และกรอบวงเงินใหม่อยู่ที่ 6,468.69 ล้านบาท ส่วนช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ –หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถีใหม่ ให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวกมากขึ้น  

ขณะเดียวกันยังต้องประเมินราคาค่าก่อสร้างในส่วนของ Missing Link ใหม่ที่ต้องปรับกรอบวงเงินเพิ่มประมาณ 2,843 ล้านบาท จากเดิม 44,157 ล้านบาท เป็น 47,000 ล้านบาท โดยเส้นทางนี้คาดว่าจะเสนอ ครม. เห็นชอบได้ในปี 65 และเปิดประมูลช่วงปี 66

“รฟท. จะเร่งเปิดประมูลงานก่อสร้าง และงานระบบก่อน พร้อมกับเร่งดำเนินการ PPP งานเดินรถฯ ทั้ง 6 เส้นทาง วงเงินประมาณ 3.6 แสนล้านบาท สัมปทาน 50 ปี แบ่งเป็น ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง และเส้นทางที่เปิดบริการแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. แล้ว เตรียมนำเสนอกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และครม. พิจารณาตามลำกับ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในช่วงปี 67 ส่วนการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปีแรกของการเปิดให้บริการครบทั้ง 6 เส้นทาง น่าจะมีประมาณ 9 หมื่นคนต่อวัน และประมาณการรายได้ 50 ปี อยู่ที่ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท”นายนิรุฒ กล่าว