“มูลนิธิสัมมาชีพ” มอบรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” ปี 2567 หนุนสร้างสัมมาชีพ สู่สังคมยั่งยืน

ผู้ชมทั้งหมด 87 

มูลนิธิสัมมาชีพ ประกาศมอบรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” ประจำปี 2567 จำนวน 13 รางวัล เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติบุคคล, เอสเอ็มอี, วิสาหกิจชุมชน และปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ-ดำเนินชีวิต บนหลักการสัมมาชีพ และร่วมสร้างความยั่งยืนให้สังคม

ในวาระครบรอบ 15 ปีของมูลนิธิสัมมาชีพ มูลนิธิฯ ได้จัดงานมอบรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” ครั้งที่ 10 ประจำปี 2567 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “15 ปีสัมมาชีพ สานพลังไทย สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” เพื่อประกาศเกียรติคุณและยกย่องเชิดชู บุคคล-เอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน-ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบการโดยยึดมั่นในแนวทางสัมมาชีพ คือ การประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม สร้างสังคมที่มีความยั่งยืน โดยผู้ที่ได้รับรางวัลเหล่านี้จะเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นนำไปปรับใช้ อันจะนำสู่การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สร้างความก้าวหน้าให้กับเศรษฐกิจฐานราก ความยั่งยืนให้กับประเทศในระยะยาว

งานฯนี้ มีแขกผู้มีเกียรติและองค์กรภาคีเข้าร่วมงานคับคั่ง อาทิเช่น ดร.สมคิดจาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรองประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เคยได้รับรางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ คือ นายประทีป ตั้งมติธรรม บุคคลต้นแบบสัมมาชีพประจำปี 2561 เข้าร่วมด้วย

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า มูลนิธิสัมมาชีพ ภูมิใจที่จะมอบรางวัลเกียรติยศ ต้นแบบสัมมาชีพให้กับท่านที่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวมา รางวัลนี้ไม่เพียงแต่ยกย่องความสำเร็จในการดำเนินงาน แต่สะท้อนถึงการประกอบการอย่างมีสัมมาชีพ การเป็นผู้มีบทบาทสำคัญส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคมได้ร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีและยั่งยืน

สำหรับรางวัล “ต้นแบบสัมมาชีพ” ประจำปี 2567 มี 4 ประเภทคือ รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ และรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ

โดย “รางวัลบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ” มอบให้แก่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรม นับเป็นบุคคลต้นแบบคนที่ 10 ตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้เมื่อปี 2552 เป็นต้นมา เนื่องจากนายเกรียงไกร เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ให้กับเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ที่เติบโตอย่างยั่งยืน ส่งผลให้นายเกรียงไกร ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ 2 วาระติดต่อกันตั้งแต่ปี 2565-2569

ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ทิศทางดังกล่าว นายเกรียงไกร มีนโยบาย One FTI โดยหลอมรวมทุกอุตสาหกรรม ทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ไปจนถึงธุรกิจเอสเอ็มอี และในระดับจังหวัด ผลักดันให้ปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมให้ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทรนด์ดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อไป

นอกจากนี้ นายเกรียงไกร ยังมีแนวคิดนำภาคเกษตรอุตสาหกรรมมาเชื่อมโยงกับชุมชน ผ่านโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ SAI (Smart Agriculture Industry) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อผลักดันภาคเกษตรให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ การยกระดับ SME เป็น Smart SME ผ่านนโยบาย 4 Go ได้แก่ Go Digital and AI การนำดิจิทัลมาช่วยยกระดับศักยภาพทางธุรกิจของเอสเอ็มอี Go Innovation การพัฒนานวัตกรรมของเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ  Go Global การสร้างและขยายโอกาสในตลาดต่างประเทศ และ Go Green สนับสนุนเอสเอ็มอีพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับรางวัลอื่นๆ ที่มอบในงานนี้ ประกอบด้วย

“รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ” มอบให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการประกอบการโดยมีศักยภาพ การดำเนินธุรกิจให้เติบโตบนหลักสัมมาชีพ ควบคู่ไปกับการมีบทบาทส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้อม มีผู้ที่ได้รับรางวัล 5 ราย ได้แก่

บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด จ. สุพรรณบุรี เป็นผู้ผลิต อาหารเครื่องดื่ม ธัญพืชเพื่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและผลผลิตในภาคการเกษตร

บริษัท เชียงใหม่ไบโอเวกกี้ จำกัด จ. เชียงใหม่ ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ โดยพัฒนานวัตกรรมอาหารที่สามารถรักษาคุณค่าสารอาหารได้สูงและใช้วัตถุดิบจากโครงการหลวง

บริษัทข้าวใหม่ปลามัน อัมพวา จำกัด จ. สมุทรสงคราม ให้บริการอาหารท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและเครือข่ายเกษตรกร

บริษัท ชีวาดี โปรดักส์ จำกัด จ. ราชบุรี ผลิตและจำหน่ายน้ำหวานดอกมะพร้าวอินทรีย์ ทั้งยังเป็นศูนย์ด้านการวิจัย นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์จากน้ำดอกมะพร้าว

ห้างหุ้นส่วนจำกัดเค้กกนิษฐา 2004  (เค้กกนิษฐา) จ. ตรัง ผลิตและจำหน่ายเค้กและขนมเมืองตรัง มีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าให้กลุ่มวิสาหกิจและเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าให้ชุมชน

ด้าน “รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ” จำนวน 4 รางวัล มอบให้แก่วิสาหกิจชุมชนซึ่งสร้างเศรษฐกิจชุมชน โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้  เทคโนโลยี นวัตกรรมมาปรับใช้ จนประสบความสำเร็จ และประกอบการบนหลักสัมมาชีพ คำถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีส่วนช่วยแก้ปัญหาชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัล 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

ประเภทการเกษตร ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนบ้านบาตูปูเต๊ะ (ธารโต) จ.ยะลา ผลิต รวบรวมผลผลิตและจำหน่ายทุเรียนคุณภาพ มีความโดดเด่นในการพัฒนาคุณภาพทุเรียนการรวมกลุ่ม โดยเฉพาะการจัดการล้งโดยชุมชน

ประเภทแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหาดไก่ต้อย จ. อุตรดิตถ์ แปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองลูกค้าหลายกลุ่ม

ประเภทแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมล้านนาสันปูเลย จ. พะเยา แปรรูปผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากผักตบชวาและไม้ไผ่ โดยพัฒนาการผลิตและการออกแบบให้แปลกใหม่ มีเอกลักษณ์ จึงสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้

ประเภทการบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จ. ตราด ดำเนินการท่องเที่ยวชุมชนครบทุกมิติ กระจายรายได้สู่ชุมชนหลากกลุ่ม และพัฒนาสู่การท่องเที่ยวสีเขียว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ส่วน“รางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” มี 3 รางวัล มอบให้แก่ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ริเริ่ม สร้างสรรค์งาน ที่ก่อให้เกิดคุณค่า ยั่งยืน และขยายเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม เพื่อร่วมพัฒนาในระดับชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับประเทศ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ประกอบด้วย

นายวีรวัฒน์  จีรวงส์ จ.ชุมพร มีผลงานพัฒนานวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจร มีนวัตกรรมใหม่ด้านการเกษตร ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการสวนแบบเกษตรอุตสาหกรรม และตามแนวทาง BCG MODEL

นางฑิฆัมพร  กองสอน จ. น่าน เป็นผู้นำอนุรักษ์ป่าต้นน้ำโดยการทำเกษตรอินทรีย์ และเป็นผู้เชื่อมร้อยภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้สมัยใหม่มาพัฒนาด้านเกษตรอินทรีย์ การแปรรูป ตลอดจนเชื่อมต่อการตลาดระดับประเทศ

นายประสิทธิ์ รูปต่ำ จ. ฉะเชิงเทรา ผู้ผลิตไผ่ตงนอกฤดูกาลและการจัดการไผ่ตงครบวงจร ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคาสูงกว่าทั่วไป เป็นผู้นำชุมชนให้ปลูกไผ่ในพื้นที่ ควบคุมมาตรฐานสินค้าให้ได้คุณภาพ และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย