“มาตรการรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้น” หนุนการใช้น้ำมัน 2เดือนแรกปี68 โต 2.6%

ผู้ชมทั้งหมด 157 

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เผย การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของไทย รอบ 2 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม – กุมภาพันธ์) เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รับภาคการท่องเที่ยว-บริการฟื้นตัว รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การใช้เบนซิน-NGV หดตัวต่อเนื่อง

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทย รอบ 2 เดือนแรก ปี 2568 (เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์) อยู่ที่ 159.57 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 และการใช้ LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 1.6 และ NGV ลดลงร้อยละ 15.2

โดยมีรายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.56 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 1.6 ประกอบด้วยการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงมาอยู่ที่ 6.77 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.11 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.38 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.06 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.90 ล้านลิตร/วัน จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากที่สุด โดยสาเหตุมาจากปัจจัยด้านประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และราคา ซึ่งราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 0.37 บาท/ลิตร (ราคาเฉลี่ยเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568) แต่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนราคาแก๊สโซฮอล์ 95 สูงกว่าแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 1.76 บาท/ลิตร จึงทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้แก๊สโซฮอล์ 95 มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงโดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) มีสัดส่วนร้อยละ 5.81 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน1 รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ 8.72 2 เทียบกับปีก่อน

การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 68.89 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ประกอบด้วยดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68.82 ล้านลิตร/วัน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริการ ขณะที่ดีเซลหมุนเร็ว บี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน และสำหรับการใช้ดีเซลพื้นฐาน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.00 ล้านลิตร/วัน ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 70.89 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 19.63 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 ยังคงขยายตัวได้ดีจากภาคท่องเที่ยวและการบริการผ่านมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสะสมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จำนวน 6.82 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยขยายตัวร้อยละ 4.64 รวมไปถึงการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.13 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ประกอบด้วยการใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.12 ล้านกก./วัน ภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.56 ล้านกก./วัน และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13 ล้านกก./วัน ขณะที่ภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 2.32 ล้านกก./วัน

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.51 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 15.2 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 ก.ค. 2567 – 31 ธ.ค.2568)

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,096,311 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 87,762 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 1,072,230 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 86,258 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 24,081 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 59.7 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1,504 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 149,225 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 4.2 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซินน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่ง
ออกรวม13,151 ล้านบาท/เดือน