มาตรการคุมราคา “ดีเซล” หนุนยอดใช้ 4 เดือนแรกปี65 พุ่ง 15.7%

ผู้ชมทั้งหมด 435 

กรมธุรกิจพลังงาน ชี้ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หนุนยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รอบ 4 เดือนของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) เพิ่มขึ้น 11.2%  กลุ่มดีเซลพุ่ง 15.7% จากมาตรการตรึงราคา ด้านน้ำมันเครื่องบิน ฟื้น 48.8% จากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ขณะที่ราคาน้ำมันแพง กดยอดใช้กลุ่มเบนซิน ลด 3.9%

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศช่วง 4 เดือนแรก(เดือนมกราคม – เมษายน 2565) เฉลี่ยต่อวัน พบว่า เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.2 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์(Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.8 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 น้ำมันก๊าดเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ขณะที่การใช้ NGV ทรงตัวในระดับเดิม อย่างไรก็ตาม การใช้กลุ่มเบนซินลดลงร้อยละ 3.9 เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.60 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 3.9) เนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับสูง การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 6.93 ล้านลิตร/วัน 15.37 ล้านลิตร/วัน 5.74 ล้านลิตร/วัน และ 0.57 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.99 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.28 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.7) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.65 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 68.0) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.39 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.21 ล้านลิตร/วัน การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.22 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน(เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.8) เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ โดยมาตรการ Test & Go ได้เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากระงับตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564 โดยกำหนดให้ตรวจ COVID-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 2 ครั้ง และต้องมีหลักฐานการจองโรงแรมที่พัก นอกจากนี้ มาตรการ Test & Go เวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ได้เปลี่ยนการตรวจหาเชื้อจากวิธี RT-PCR เป็น ATK และไม่ต้องจองโรงแรมในการตรวจครั้งที่ 2 พร้อมทั้งลดวงเงินประกันเป็นไม่ต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เพื่อหนุนการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบยกเลิกการตรวจ RT-PCR สำหรับผู้เดินทางเข้าไทยที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ รวมทั้งปรับลดวงเงินประกันสำหรับผู้เดินทางเป็น 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ศบค. ยังเห็นชอบปรับระดับพื้นที่ตามสถานการณ์ การระบาด เหลือพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 65 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 12 จังหวัด โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565

การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.77 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.3) เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.93 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.3) ภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.01 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.8) และภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.02 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.1) สำหรับการใช้ในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.80 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.0)

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.29 ล้านกก./วัน ทรงตัวอยู่ในระดับเดิม (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.01) โดย ปตท. ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเคยได้รับสิทธิผ่านมาตรการ NGV เพื่อลมหายใจเดียวกันที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน และการแพร่ระบาดของ COVID-19

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,018,628 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.4) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 951,689 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.1) สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96,646 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 96.5) มูลค่าการนำเข้าที่สูงขึ้นนี้เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาของปี 2565 สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66,938 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,801 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม – เมษายน 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาน้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 155,522 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 8.6) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,464 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 70.2)