“มนพร” เปิดท่าเรือพระราม 7 ท่าเรืออัจฉริยะแห่งใหม่

ผู้ชมทั้งหมด 124 

กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ จังหวัดนนทบุรี กฟผ. และกรมเจ้าท่า โดยมี “มนพร” เป็นประธานเปิด ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือโดยสารอัจฉริยะแห่งใหม่ เชื่อมโยงโครงข่าย “ล้อ – ราง – เรือ” หนุนการเดินด้วยระบบสาธารณะทางน้ำ คาดปี 70 มีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 53,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือพระราม 7 โดยมีนายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายประภูศักดิ์ จินตะเวช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม นายอำเภอบางกรวย นายกเทศมนตรีอำเภอบางกรวย สมาคมเรือไทย สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมพิธีฯ ในวันที่ 4 เมษายน 2568 ณ ท่าเรือพระราม 7 อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

นางมนพร กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือพระราม 7 ว่า ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า (จท.) พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น พร้อมส่งเสริมการเดินทางทางน้ำและการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา สู่ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier ) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบาย “คมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” และ “ราชรถยิ้ม” เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้วยการเชื่อมโยงโครงข่าย “ล้อ – ราง – เรือ” อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยทั้งประเทศ

นางมนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าเรือพระราม 7 เป็น 1 ในท่าเรือที่ได้รับการยกระดับให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier ) เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยว โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง จท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยพื้นที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร มีโป๊ะเทียบเรือขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ระบบวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองคนมีไข้ก่อนเข้าพื้นที่ และ AI จดจำใบหน้า กล้องวงจรปิด ระบบแจ้งเตือนการรับน้ำหนักโป๊ะเทียบเรือ ระบบแสงไฟอัจฉริยะ ทางลาดและห้องน้ำผู้พิการ รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานหมุนเวียน ระบบไฟอัจฉริยะที่เปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charger) ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางด้วยระบบสาธารณะทางน้ำเฉลี่ย 53,000 คนต่อวัน ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 280,230 ตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ด้านนายกริชเพชร กล่าวว่า จท. มีแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 12 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า สะพานพุทธ นนทบุรี  สาทร ท่าช้าง ท่าเตียน ราชินี พายัพ บางโพ พระราม 5 พระปิ่นเกล้า พระราม 7 อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือปากเกร็ด มีความคืบหน้า 68% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 และท่าเรือเกียกกาย (กทม. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง) และได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2568 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือเทเวศร์ และโอเรียนเต็ล ดำเนินการของบประมาณปี 2569 จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ สี่พระยา พรานนก ซังฮี้ ท่ารถไฟ วัดตึก วัดสร้อยทอง วัดเขมา เขียวไข่กา พิบูลย์สงคราม 1 วัดเทพนารี วัดเทพากร และพิบูลย์สงคราม 2 

นายเทพรัตน์ กล่าวเสริมว่า โครงการ “ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7” เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และกรมเจ้าท่า ภายใต้แนวคิดการพัฒนาพื้นที่บางกรวยให้เป็นเมืองที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์วิถีชีวิตของประชาชนแบบ New Normal โดยนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาผสานเข้ากับระบบคมนาคมทางน้ำ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทาง ภายใต้แนวคิด 5 Smart ประกอบด้วย 1) Smart Energy ประยุกต์ใช้นวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ควบคู่กับระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน เพื่อยกระดับให้ท่าเรืออัจฉริยะพระราม 7 สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และ ควบคุมการใช้พลังงานภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ 2) Smart Safety ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในท่าเรือ อาทิ กล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัย ระบบเตือนภัยคนตกน้ำ 3) Smart Lighting ระบบไฟส่องสว่างอัตโนมัติ ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น 4) Smart Digitalization ระบบข้อมูลดิจิทัลอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และ 5) Smart Service ตรวจสอบข้อมูลการเดินเรือ ข่าวสาร และสถานที่ที่น่าสนใจใน อ.บางกรวย ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Pier รวมถึงการให้บริการสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า และตู้ชาร์จอัจฉริยะสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ด้านนายอภิชัย กล่าวว่า จังหวัดนนทบุรี ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑล มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านมีท่าเรือสำคัญที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจังหวัด และมีเกาะเกร็ดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่นิยมล่องเรือชมทัศนียภาพริมแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น การควบคุม และกำกับดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทางน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ หน่วยงานต่าง ๆ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มทางเลือกและความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

สำหรับท่าเรือพระราม 7 ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด “ท่าเรือที่ใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด” ใช้ปรากฎการณ์แสงสะท้อนกับผิววัสดุ ทำให้สีอาคารเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน ภายในอาคารใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ระบบนับจำนวนคนอัตโนมัติ รวมถึงการรองรับการเข้าถึงได้ของผู้ใช้บริการ อาทิ ทางลาดและห้องน้ำสำหรับผู้พิการ สถานีชาร์จรถไฟฟ้า มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะทางน้ำมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจร เพิ่มความสะดวกในการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล