ผู้ชมทั้งหมด 331
“มนพร” ลั่นทบทวนแผนย้ายท่าเรือคลองเตย 6 เดือนชัดเจน มั่นใจได้เริ่มตอกเสาเข็มภายในรัฐบาลนี้ กทท.เตรียมชงแผนเดิมให้คณะกรรมการฯ พิจารณานัดแรกเร็วๆ นี้ คาดใช้งบลงทุนกว่า 1 แสนล้าน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมการย้ายและพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ว่า คาดว่าคณะกรรมการศึกษาแผนการย้ายและพัฒนาท่าเรือคลองเตย โดยที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานจะมีการพิจารณาแผนภายในเดือนพฤษภาคมนี้
โดยทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะนำแผนเดิมที่มีการปรับปรุงใหม่เมื่อปี 2562 มาเป็นต้นแบบ เสนอให้คณะกรรมการพิจารณาในรายละเอียดใหม่ เพื่อพิจารณาดูว่าจะพัฒนาส่วนไหนอย่างไรก่อนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยคาดว่าจะดำเนินการศึกษาทบทวนแผนแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และมั่นใจว่าจะได้เห็นการลงทุนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพภายในรัฐบาลนี้
อย่างไรก็ตามในแผนเดิมนั้น กทท. มีการศึกษาครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ในลักษณะผสมผสาน (Mixed-Use) โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย Smart Community และการพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ การพัฒนาเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าสีเขียว (Green Port) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยท่าเรือขนส่งสินค้าจะย่อขนาดเล็กลงแต่มีศักยภาพปริมาณตู้สินค้าเท่าเดิม
“ปัจจุบันยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะย้ายท่าเรือคลองเตยออกไปอยู่ในพื้นที่ไหน หรือจะให้อยู่ที่เดิมแล้วย่อท่าเรือขนสินค้าขนาดเล็กลงมีการพัฒนาให้ทันสมัย สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิสูงขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องมีการพัฒนาเป็นท่าเรือท่องเที่ยว พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเมื่อทบทวนแผนแล้วจะมีความชัดเจนของผังท่าเรือกรุงเทพว่าจะทำอะไรตรงไหนอย่างไร”นางมนพร กล่าว
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า การศึกษาความเป็นได้เพื่อพิจารณาแผนการย้ายและพัฒนาท่าเรือคลองเตยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2,353 ไร่นั้นจะมีการย้ายแบบไหน หรือพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างไร รัฐบาลต้องการให้พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีโครงการ Mixed-Use มีธุรกิจด้านกีฬา มีพื้นที่สีเขียว มีท่าเรือท่องเที่ยว ส่วนท่าเรือกรุงเทพอาจจะปรับลดขนาด และปรับเพิ่มการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะกรรมการที่มีนายสุริยะเป็นประธานจะศึกษาให้ได้ข้อสรุปก่อนว่าจะทำอะไรบ้าง เพื่อเกิดประโยชน์กับประเทศ เกิดประโยชน์กับการดำเนินงานของกทท. และพนักงานด้วย
ทั้งนี้แผนการโย้กย้ายและพัฒนาท่าเรือคลองเตยนั้นมีพื้นที่บ้านอยู่อาศัยของประชาชนที่ต้องมีการโยกย้ายประมาณ 13,000 ครัวเรือน ดังนั้นการพิจารณาทบทวนแผนจะมีการพิจารณาเรื่องการสร้างที่อยู่ใหม่ มีการจัดสรรพื้นที่บางส่วนเป็นคอมมูนิตี้ให้กับชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการพัฒนาจะต้องให้ชุมชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเพราะชุมชนถือเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก