ผู้ชมทั้งหมด 663
“มนพร” ร่วมแสดงความยินดี กทท. ครบรอบ 73 ปี เดินหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ สานต่อนโยบายท่าเรือสีเขียวเพื่อความยั่งยืน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนาการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ครบรอบ 73 ปี ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ อาคารโรงยิมเนเซียม PAT Arena พร้อมนี้ กทท. ได้มอบเงินสนับสนุนจัดหารถหน่วยคัดกรองมะเร็งนรีเวชให้แก่มูลนิธิกาญจนบารมี จำนวน 36,720,400 บาท เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือสตรีกลุ่มเสี่ยงผู้ด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารให้สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งทางนรีเวชได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นางมนพร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 73 ปี กทท. ถือเป็นองค์กรสำคัญที่มุ่งขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ โดยใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการให้บริการเพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ควบคู่กับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่ท่าเรือสีเขียว (Green Port) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) โดยติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงพักสินค้าและอาคารในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ส่งเสริมการใช้รถยกไฟฟ้า EV สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดทดแทน ลดมลพิษปัญหาฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน กทท. จะต้องเดินหน้าปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ด้วยการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและครบวงจรเพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองท่าที่ทันสมัย เพิ่มศักยภาพรองรับธุรกิจพาณิชยนาวี การขนส่งโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว สานต่อนโยบาย “คมนาคมเปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ” ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบท่าเรือต่อไป
นางมนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของด้านการยกระดับการให้บริการและการพัฒนาระบบ โลจิสติกส์ กทท. มีนโยบายสร้างรูปแบบธุรกิจและกิจกรรมใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ และตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า – ส่งออก เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพพัฒนาเป็น HUB ที่สำคัญของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางการให้บริการร่วมกับท่าเรือเอกชนในแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaophraya Super Port) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ร่วมกับภาคเอกชน
อีกทั้งยังดำเนินโครงการเขตปลอดอากร(Bangkok Port Free Zone) สร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า คาดว่าจะมีรายได้จากการดำเนินการ 6 – 7 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ได้มีแผนในการขยายขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้าในอนาคต ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรือกึ่งอัตโนมัติ (Semi Automated Container Terminal) และโครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์เชื่อมโยงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport & Distribution Center)
กระทรวงคมนาคม โดย กทท. ได้พัฒนาท่าเรือตามนโยบายการขนส่งหลายรูปแบบ (Seamless Transport) เพื่อเพิ่มประสิทธิในการขนส่ง ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ลดปัญหาความแออัดจากการขนส่งบริเวณท่าเรือ รองรับการเติบโตด้านการขนส่งสินค้าผ่านทางเรือชายฝั่งและทางรถไฟที่จะเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต รวมทั้งโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ในโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) เพื่อให้รถบรรทุกสินค้าสามารถระบายออกสู่ทางพิเศษอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว และโครงการพัฒนาพื้นที่ลานจอดรถบรรทุก (Truck Parking) และการจองคิวรถบรรทุกด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Truck Queuing) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง
นางมนพร กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างทางทะเล ขณะนี้มีผลการดำเนินการสะสม ณ เดือนเมษายน 2567 คิดเป็น 27.25% ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติเพื่อลงนามในสัญญาต่อไป ในส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจ้างเหมาสร้างเครื่องจักรฯ อยู่ระหว่างการสรรหาผู้รับจ้างเพื่อจัดทำเอกสารประกวดราคา อย่างไรก็ตามได้กำชับให้ กทท. ติดตามเร่งรัดผู้รับจ้างให้ดำเนินการตามแผนงานอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้กระทบงานส่วนอื่น และส่งมอบแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ ได้ตามกรอบระยะเวลาของสัญญา
ทั้งนี้ กทท. ยังมีแนวทางในการพัฒนาท่าเรือภูมิภาคในส่วนของท่าเรือระนอง โดยพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเทียบเรือ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมขนส่งชายฝั่งอันดามัน กลุ่ม BIMSTEC สนับสนุนแลนบริดจ์และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ สำหรับท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน กทท. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการส่งออกสัตว์ปศุสัตว์ที่เป็นการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชนและเกษตรกรที่อยู่บริเวณพื้นที่โดยรอบท่าเรือและอำเภอเชียงแสนตามนโยบายของรัฐบาล คาดว่าจะส่งผลให้ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมีรายได้จากการดำเนินโครงการฯ เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10 ล้านบาท
กทท. มีส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมร้อยละ 85.21 โดยหากพิจารณาตามประเภทของท่าเรือ พบว่า ธุรกิจ Deep Sea Port มีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็นร้อยละ 86.34 และธุรกิจ River Port ร้อยละ 78.20 ด้านผลประกอบการในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง รวม 7,230 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.36 สินค้าผ่านท่า 58.69 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.85 และตู้สินค้าผ่านท่า 5.28 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.77 มีรายได้สุทธิ 8,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.97 กำไรสุทธิ 4,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.34 เทียบกับปีก่อนหน้า
กทท. ยังเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่นำรายได้นำส่งแผ่นดินสูงสุด 10 อันดับแรก โดย กทท. มุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนประสิทธิภาพการปฏิบัติการ และพัฒนาศักยภาพขององค์กรสู่การเป็นท่าเรือชั้นนำ ภายใต้มาตรฐานสากล พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศไทยในตลาดการค้าโลกผ่านโครงการพัฒนาท่าเรือที่สำคัญ อันจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้กทท. ได้มอบเงินสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศล ให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จำนวน 1,500,000 บาท วัดดอนทรายและโรงเรียนวัดดอนทราย สมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย มัสยิดอิดารุลมีนา ชมรมผู้สูงอายุ กทท. และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กทท. หน่วยงานละ 300,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,000,000 บาท พร้อมเชิญชวนหน่วยงานภายนอกร่วมสมทบทุนให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวนด้วย