“มนพร” คาดปี 68 ปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 13% ปี 67 ทะลุ 8 แสนเที่ยวบิน

ผู้ชมทั้งหมด 157 

“มนพร” คาดปี 68 ปริมาณเที่ยวบินเพิ่ม 13% ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินปี 67 มีจำนน 868,373 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 15% พร้อมเร่งเครื่อง บวท.เดินหน้าคมนาคมด้วยไอเดีย 2 ระยะ 4 สร้าง ขับเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลางการบิน

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยขณะตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ผู้บริหาร บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ว่า วิทยุการบินฯ เป็นอีกหน่วยงานทางการบินที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันการขนส่งทางอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศ

อย่างไรก็ตามตนได้มอบนโยบายให้ บวท. ดำเนินงานตามกรอบ “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย 2 ระยะ 4 สร้าง” โดยระยะเร่งด่วนให้ บวท. สานต่อโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องใช้เทคโนโลยีและบูรณาการกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนระยะกลางให้ บวท. ขับเคลื่อนแผนงาน โครงการ การลงทุน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทางอากาศให้ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลอย่างยั่งยืน และใช้หลักแนวทางวงจรบริหารงานคุณภาพ (Plan Do Check Act : PDCA) อย่างเป็นระบบ”

พร้อมมอบนโยบาย 4 สร้าง สร้างความสามารถในการรองรับเที่ยวบิน ให้ได้ตามเป้าหมายนโยบายศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub)  สร้างบุคลากรทางการบินที่มีคุณภาพและเพียงพอได้มาตรฐานสากล มีศักยภาพเหมาะสมกับการรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน และรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างบริการที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางอากาศของประเทศ

สำหรับปริมาณเที่ยวบินปี 2567 และคาดการณ์ปี 2568 (ม.ค. 68 – ธ.ค. 68) ในปี 2567 มีจำนวนเที่ยวบินรวม 868,373 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2566 และคาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินปี 2568 เพิ่มขึ้น 13% จำนวนเที่ยวบินรวม 981,270 เที่ยวบิน โดยภาพรวมปริมาณเที่ยวบินทั้งภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และบินผ่านน่านฟ้าใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิดสถานการณ์ปริมาณเที่ยวบินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าไว้ว่าจะรองรับ 1.2 ล้านเที่ยวบิน ในปี 2568 ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการเร่งพัฒนาศักยภาพทุกมิติอย่างครอบคลุม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน Aviation Hub อย่างภาคภูมิ

นายณพศิษฏ์  จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด  เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บวท. มีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยได้มีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศที่สอดคล้องตามนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการการจราจรทางอากาศ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน  (Aviation Hub) โดยนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management)  การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง (High Intensity Runway Operations: HIROs) การนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า คือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep)

การบริหารจัดการห้วงอากาศในรูปแบบการใช้งานแบบยืดหยุ่น (Flexible Use of Airspace : FUA) การจัดสร้างเส้นทางบินคู่ขนาน หรือ Parallel Route เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน รวมถึงการจัดสร้างเส้นทางบินตรง (Direct route) เพื่อช่วยลดระยะการบิน การปรับปรุงห้วงอากาศและเส้นทางบินสำหรับกลุ่มสนามบินที่มีความซับซ้อนสูง (METROPLEX) การให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Air Traffic Management (Green ATM) อีกทั้งพัฒนาบุคลากรให้ก้าวหน้าทันเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราเชื่อมั่นว่าการพัฒนาดังกล่าวถือเป็นการสร้างศักยภาพขององค์กร ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป