“พีระพันธ์” ลั่นยุบพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยกร่างกฎหมายใหม่บังคับใช้ภายในปี 67

ผู้ชมทั้งหมด 307 

“พีระพันธ์” ลั่นยุบพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมร่างกฎหมายใหม่ประกาศใช้ก่อนสิ้นปี 67 หวังตั้งคณะกรรมการมากำกับดูแล ขณะที่การตรึงราคาน้ำมันดีเซล เตรียมหารือรมว.คลัง ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หวังลดราคาน้ำมันดีเซลต่ำกว่า 33 บาทต่อลิตร

นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการร่างกฎหมายใหม่ เพื่อทดแทน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับเดิม ว่า พ.ร.บ. ใหม่ได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายเสร็จแล้ว โดยขณะนี้ พ.ร.บ.อยู่ระหว่างคณะกรรมการร่างกฎหมาย คณะกรรมการกษฎีกา ตรวจสอบร่างกฎหมายให้เรียบร้อย เมื่อเสร็จสิ้น 100% ก็จะขอความเห็นกับทางภาคเอกชน ซึ่งตนจะเร่งผลักดันให้สามารถประกาศบังคับใช้ได้ภายในปี 2567  

โดยพ.ร.บ. ฉบับแรกที่รยกร่างเสร็จแล้ว คือ เรื่องการบริหารจัดการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง มีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรม ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้เพื่อให้กิดความโปร่งใส  

“พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันมีแต่เรื่องกองทุนน้ำมัน แต่ปัญหาของเราตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องกองทุน น้ำมันขึ้นลงทุนวันใครคุม ต่อไปทุกคนจะต้องช่วยกันวางระบบใหม่ กฎหมายใหม่ยังไม่ได้ตั้งชื่อแต่ พ.ร.บ.กองทุนมันเชื้อเพลิงยุบไปแน่นอน เปลี่ยนไปใส่ไว้ในพ.ร.บ. ฉบับใหม่ แต่พ.ร.บ.ใหม่จะไม่มีแค่เรื่องกองทุนน้ำมัน เพราะปัญหาที่เจอไม่ใช่แค่เรื่องกองทุน ส่วนคณะกรรมการที่จะมากำกับดูแลเรื่องน้ำมันก็จะมีลักษณะคล้ายๆกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ดูแลค่าไฟฟ้า ซึ่งคณะกรรมการตามกฎหมายใหม่ก็ต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน”  นายพีระพันธ์ กล่าว

ต่อข้อสอบถามว่า พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้จะกระทบกับการค้าเสรีน้ำมันมั้ย นายพีระพันธ์ กล่าวว่า การแก้ฎหมายจะไม่กระทบกับการค้าเสรีน้ำมัน ซึ่งการค้าเสรีน้ำมันก็ต้องมีกรอบที่ชัดเจน ถ้าหากไม่มีกรอบก็จะกลายเป็นการเอาเปรียบ และคำว่าเสรีต้องเสรีจริงๆ โดยต้องไม่ไปปิดกั้นผู้ค้ารายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด

อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเว้นภาษี หรือยกเลิกภาษี แต่จะเป็นการกำหนดเพดานภาษีน้ำมัน อันนี้อยู่ในมาตรา 32 ซึ่งตนได้ไปเช็ครายละเอียดกับกษฎีกายืนยันแล้วว่าสิ่งที่ตนคิดถูกต้องการ กำหนดเพดานภาษีน้ำมันไม่ได้ไปขัดกับกฎหมายวินัยการเงินการคลัง

สำหรับเพดานภาษีควรเป็นเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาคำนวณดูว่าควรจะอยู่ในอัตราที่เท่าไหร่ แต่หลักการคือจะไม่มีการเก็บรายได้เข้าสู่รัฐด้วยภาษีนี้ เพราะสุดท้ายก็จะกลายเป็นภาระของภาครัฐ ซึ่งอันนี้ตนจะต้องไปดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เบื้องต้นอาจจะให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ

นายพีระพันธ์ กล่าวถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ว่า หลังจากสิ้นสุดการตรึงราคาไว้จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 นั้นในเบื้องต้นตนได้มีการหารือกับนายพิชัยชุณหะวธีระรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนอกรอบ หลังจากที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 โดยมีความเห็นพร้อมกันว่าจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตามตนได้เสนอให้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดำเซลลง เพื่อให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงต่ำกว่า 33 บาทต่อลิตร

ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร แต่ยังมีการบวกกับภาษีท้องถิ่นอีก 60 สตางค์ต่อลิตรรวมเป็น 6.50 บาทต่อลิตร ซึ่งแพงกว่าประเทศเวียดนามที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพียงอย่างเดียวที่ 1.70 บาทต่อลิตร และประเทศสิงคโปร์จัดเก็บที่ 5.54 บาทต่อลิตร ดังนั้นจึงต้องพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน