ผู้ชมทั้งหมด 458
“พีระพันธุ์” เผย เตรียมเสนอครม. แก้กฎหมาย ปลดล็อก ไม่ต้องยื่นขอ รง.4 เอื้อภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมฯ -ประชาชน ติดตั้งโซลาร์ฯ ผลิตไฟใช้เอง หวังลดต้นทุนค่าไฟสร้างทางรอดธุรกิจ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืน” ในการสัมมนา “พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์เดลินิวน์ วันที่ 11 ก.ย.2567 โดยระบุว่า หากพูดถึงความยั่งยืนเรื่องของพลังงาน ต้องถามว่า เป็นความยั่งยืนของผู้ประกอบการ หรือ ประชาชนผู้ใช้พลังงาน แต่ในคความเป็นจริงความยั่งยืนไม่สามารถใช้ได้กับทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว เพราะความยั่งยืนในแง่ของผู้ประกอบการจะมองเรื่องของกำไรสูงสุด ขณะที่ความยั่งยืนในแง่ของประชาชนต้องใช้ต้นทุนราคาพลังงานถูกที่สุด ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ไปด้วยกันไม่ได้ ฉะนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญว่า จะทำอย่างไรให้ความยั่งยืนเรื่องพลังงานเกิดความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและผู้ใช้พลังงาน
และหากพูดถึงทางรอดของภาคธุรกิจ เกี่ยวกับความยั่งยืนจะเห็นว่าที่ผ่านมา ภาคธุรกิจต่างมองเรื่องของการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพราะมีต้นทุนราคาพลังงานต่ำ ฉะนั้นจะเห็นว่าหากธุรกิจไฟฟ้าไม่สามารถลดต้นทุนลงได้ ธุรกิจก็ไปไม่รอด ขณะเดียวกันนักลงทุนเวลาจะเข้าไปลงทุนในประเทศใด ก็จะพิจารณาเรื่องของต้นทุนพลังงานเป็นสำคัญ ซึ่งก็มีการพูดกันว่า เวียดนาม ต้นทุนพลังงานต่ำ ก็ต้องดูว่าเขาผลิตจากถ่านหินซึ่งมีต้นทุนต่ำมาก แม้ว่าไทยจะมีการผลิตจากถ่านหินแต่ก็มีปริมาณน้อย และไทยให้ความสำคัญกับการผลิตจากเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ซึ่งก็มีต้นทุนสูง แต่ก็จำเป็นต้องใช้พลังงานสะอาด เพราะให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด ก็ต้องลงทุนเรื่องของระบบสมาร์ทกริด ซึ่งก็มีต้นทุนสูง และจะเผชิญกับปัญหาต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง ก็ถือว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายรัฐบาล และผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนและทำให้เกิดทางรอดธุรกิจเดินไปได้ด้วยกัน
โดยหากพิจารณาจากศักยภาพของประเทศไทย เชื้อเพลิงที่จะนำมาผลิตพลังงานสะอาด มีอยู่ 3 ประเภท คือ น้ำ,ลม,แดด แต่ทั้ง 3 ประเภทนี้ที่มีศักยภาพมากที่สุด คือ แดด หรือ การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และตนได้มอบหมายนโยบายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ให้ปรับสัดส่วนของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยให้ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศลง เพราะการนำเข้าLNG ส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผันผวนและต้องปรับต้นทุนค่าไฟขึ้น-ลงในทุก 4 เดือน
รวมถึงยังได้มอบนโยบายให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า โดยการตรึงค่าไฟฟ้าทั้งปี 2567 ไว้ที่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถคำนวนต้นทุนค่าใช้จ่ายได้
“ทางรอดสำคัญคือทำยังไงให้ต้นทุนค่าไฟต่ำลง ก็ได้คุยกับผู้ว่าฯกฟผ. ให้ปรับการผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นจากเดิมที่เผาไฟจากถ่านหินและก๊าซฯ ซึ่งหากประเทศก็เริ่มปรับเปลี่ยนแล้ว และนอกจากการพึ่งพาภาครัฐแล้วในการช่วยลดต้นทุนค่าไฟแล้ว ภาคธุรกิจและภาคประชาชนก็ต้องหันมาใช้พลังงานสะอาดผลิตไฟฟ้าซึ่งจะช่วยควบคุมต้นทุนได้ด้วยตนเอง”
อย่างไรก็ตาม ทางรอดของธุรกิจและประชาชนที่จะหันไปพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าลงนั้น ยังติดปัญหากฎระเบียบต่างๆในการลงทุนติดตั้งโซลาร์ฯ เช่น การขอใบอนุญาต รง.4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
ดังนั้น ตนจึงได้แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ และเตรียมผลักดันออกเป็นกฎหมาย เพื่อให้เอื้อให้เกิดการลงทุนติดตั้งโซลาร์ฯสำหรับการผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเตรียมนำข้อกฎหมายฯ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อปลดล็อคการขอใบอนุญาต รง.4
นอกจากนี้ อีกเรื่องที่สำคัญคือ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ที่ยอดขายจะเพิ่มมากขึ้นเป็นระดับแสนคัน และในอนาคตคาดว่าจะถึงล้านคัน ฉะนั้นจะเกิดอะไรขึ้นหากรถอีวี ชาร์จไฟฟ้าพร้อมกันล้านคัน ถ้าไม่แก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อให้เกิดการผลิตไฟฟ้าใช้เองก็จะเป็นปัญหาในอนาคต ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ในปี 2567 เกิดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทำลายสถิติในปี 2566 และในปี 2568 ก็คาดว่า พีคไฟฟ้าจะทำลายสถิติในปีนี้เช่นกัน ฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้การใช้พลังงานสะอาดไปรอด จะต้องปรับปรุงกฎหมาย เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ประกอบการมีทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการแก้กฎหมายพลังงานจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย
ฉบับแรก ที่ดำเนินการเสร็จแล้วคือ กฎหมายด้านพลังงาน เพื่อใช้กำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมัน โดยจะนำระบบคิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง (Cost Plus) เข้าใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันต้องอ้างอิงตลาดน้ำมันของต่างประเทศ และต้องเข้าใจว่าประเทศไทยไม่มีการแข่งขันเสรีในตลาดน้ำมัน
ฉบับที่สอง คือการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟใช้เอง ซึ่งกระทรวงพลังงานจะปลดล็อคขั้นตอนการขออนุญาต เนื่องจากปัจจุบันการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปยังมีขั้นตอน ยุ่งยาก จึงจำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องขอใบรง.4 และต้องออกเป็นกฎหมายเปลี่ยนจากการขอเป็นการแจ้งให้ทราบ เขาเชื่อว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในอาคารบ้านเรือน จะช่วยควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่าย ลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าหลัก และสร้างพลังงานสะอาดด้วย คาดว่าการตรวจสอบร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้ จะเสนอเข้าสภาฯต่อไป
ฉบับที่สาม เรื่องสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ กระทรวงพลังงานเตรียมร่างกฎหมายต่อไป โดยรัฐบาลจะต้องมีคลังจัดเก็บน้ำมันสำรองในเบื้องต้น 90 วัน หรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง ตอนนี้อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างกฎหมายดังกล่าว คาดว่าจะเสนอเข้าสภาฯได้ภายในปี 2568