ผู้ชมทั้งหมด 21,258
“พลเอกประยุทธ์” ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ งานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ ช่วงมาบกะเบา – หินลับ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี พร้อมเปิดบริการปี 67
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ งานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ ช่วงมาบกะเบา – หินลับ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมคณะตรวจเยี่ยมโครงการ ฯ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ให้เป็นระบบการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการเดินรถ เพิ่มศักยภาพการเดินทาง การขนส่ง และโลจิสติกส์ของภาคตะวันออก เฉียงเหนือ รองรับปริมาณความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ เป็นหนึ่งโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนทั่วประเทศ ซึ่งมีระยะทาง 135 กิโลเมตร 20 สถานี เริ่มต้นที่สถานีมาบกะเบา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และสิ้นสุดโครงการที่สถานีชุมทางถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวงเงินลงทุนประมาณ 29,968.62 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กิโลเมตร แบ่งเป็น การก่อสร้างทางรถไฟคู่ใหม่ระดับพื้น 30 กิโลเมตร การก่อสร้างทางเดี่ยวระดับพื้น ขนานกับทางรถไฟเดิม 23 กิโลเมตร และทางรถไฟยกระดับ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางรถไฟที่สูงที่สุดในประเทศไทย จุดสูงสุดประมาณ 48 – 50 เมตรจากระดับพื้นดิน ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 96.22 โดยงานก่อสร้างส่วนใหญ่ เช่น อาคารสถานีทั้ง 7 สถานี และทางยกระดับ ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
สัญญาที่ 2 การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงคลองขนานจิตร – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแบบร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร -นครราชสีมา
สัญญาที่ 3 การก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 แห่ง โดยอุโมงค์ที่ 1 อยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 5.85 กิโลเมตร กว้างประมาณ 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว เป็นการออกแบบ ที่มีระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง ภายในอุโมงค์มีช่องอพยพผู้โดยสารทุก ๆ ระยะ 500 เมตร กรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 98.130
อุโมงค์ที่ 2 อยู่ระหว่างสถานีหินลับ และสถานีมวกเหล็กใหม่ จังหวัดสระบุรี มีความยาว 650 เมตร กว้าง 11.00 เมตร สูง 7.30 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ โดยช่องอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอุโมงค์อื่น ๆ ทำให้มองเห็นปากอุโมงค์ทั้งสองฝั่งได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ
อุโมงค์ที่ 3 อยู่บริเวณเขื่อนลำตะคอง ระหว่างสถานีคลองขนานจิตร อำเภอปากช่อง และสถานีคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีความยาวประมาณ 1.4 กิโลเมตร กว้าง 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ
สัญญาที่ 4 การจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม มีความคืบหน้าร้อยละ 24.31 โดยในช่วงแรกจะเปิดใช้งาน ตั้งแต่สถานีซับม่วง สถานีจันทึก สถานีปากช่อง และสถานีคลองขนานจิตร ทั้งนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการเดินขบวนรถได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่า เนื่องจากขบวนรถโดยสารจะสามารถทำความเร็วสูงสุดเฉลี่ย 100 – 120 กม./ชม. จากเดิม 50 กม./ชม. และขบวนรถสินค้า จะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 60 กม./ชม. จากเดิม 29 กม./ชม. ทำให้ลดระยะเวลาการเดินทาง มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ และประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเพิ่มความปลอดภัยทั้งแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนกับผู้โดยสารรถไฟ ด้วยการแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนให้เป็นทางต่างระดับทั้งหมด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน คาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จและเปิดเดินรถในทางคู่ใหม่บางส่วนได้ภายในปี 2567
พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ลงพื้นที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ณ อุโมงค์มวกเหล็ก ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา มีระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา ทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดติดตามการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานภายในปี 2570 ปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการก่อสร้างช่วงกลางดง – ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. แล้วเสร็จ
กระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางราง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเสริมประสิทธิภาพการเดินขบวนรถได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ กระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติ ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนกับผู้โดยสารรถไฟ ด้วยการแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนให้เป็นทางต่างระดับทั้งหมด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน