“พลังงาน” เผย น้ำมันกลุ่มดีเซลของไทยเหลือจำหน่าย B10 เกรดเดียว

ผู้ชมทั้งหมด 371 

“พลังงาน” ชี้ ไทยเหลือจำหน่ายน้ำมันดีเซล B7 เกรดเดียว หลังผู้ค้าน้ำมัน ทยอยเลิกขายดีเซล B20 เหตุค่าการตลาดต่ำไม่คุ้มค่าลงทุน

สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เกิดขึ้นราวปี 2565 ส่งผลต่อต้นทุนราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับสูงขึ้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในขณะนั้น จึงมีมติปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) ในน้ำมันดีเซลใหม่ เหลือจำหน่ายชนิดเดียว คือ ดีเซล(B7) เป็นเวลา 4 เดือน (ธ.ค. 2564 – มี.ค. 2565) จากเดิมมีการผสม B100 ในดีเซล 3 ชนิด ประกอบด้วย ดีเซลB7 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร), ดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) และดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ในทุกลิตร) แต่หลังจากสิ้นสุดมาตรการดังกล่าว ผู้ค้าน้ำมันส่วนใหญ่ไม่ได้กลับมาจำหน่ายดีเซล B20 อีก ส่งผลให้ประเทศไทย เหลือการจำหน่ายดีเซลเพียง 2 ชนิด คือ ดีเซลB7 และดีเซล B10

ต่อมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลในสถานีบริการน้ำมันลง โดยให้ยกเลิกการจำหน่ายดีเซล B10 ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา พร้อมผ่อนผันให้ผู้ค้าน้ำมันดำเนินการเลิกจำหน่ายภายใน 3 เดือน ระหว่าง พ.ค. – ก.ค. 2567 และกำหนดให้ดีเซล B7 เป็นน้ำมันพื้นฐานสำหรับการจำหน่าย โดยกำหนดสัดส่วนการผสม B100 อยู่ที่ 6.6 – 7% ในดีเซลทุกลิตร และให้มีดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือกของประชาชน   

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทย เหลือจำหน่ายน้ำมันดีเซล เพียงเกรดเดียวแล้ว คือ ดีเซลB7  แม้ว่าภาครัฐจะยังเปิดโอกาสให้ใช้น้ำมันดีเซล B20 เป็นทางเลือก แต่ผู้ค้าน้ำมันไม่มีการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 ในสถานีบริการน้ำมันแล้ว และส่วนใหญ่ได้ถอดหัวจ่ายน้ำมันดีเซล B20 ออก หรือเปลี่ยนไปจำหน่ายน้ำมันชนิดอื่นแทน เนื่องจากค่าการตลาดดีเซล B20 ต่ำมากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งการเลิกจำหน่ายดีเซล B20 ถือเป็นการลดชนิดน้ำมันตามกลไกตลาด จึงไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำมัน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานตัวเลขค่าการตลาดน้ำมัน ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2567 พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันดีเซล B20 เหลือ 0.84 บาทต่อลิตร ,ค่าการตลาดดีเซลทั่วไป อยู่ที่ 1.47 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ มีค่าการตลาดประมาณ 3 บาทต่อลิตร โดยหากเฉลี่ยค่าการตลาด ตั้งแต่ 1-19 มิ.ย. 2567 พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันโดยรวมอยู่ที่ 2.36 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสม 1.5 -2 บาทต่อลิตร)