ผู้ชมทั้งหมด 1,191
กระทรวงพลังงาน ชี้ทิศทางปี 2566 มุ่งเดินหน้าแผนงานด้านพลังงานใน 4 มิติ ผลักดันไทยสู่ Net Zero สร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เสริมสร้างเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ หวังกระตุ้นลงทุนรวม 2.6 แสนล้านบาท พร้อมแจงปี 65 ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานประชาชน 2.8 แสนล้านบาท
วันนี้ (26 ธ.ค.65) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพร้อมด้วยคณะผู้บริหารสังกัดกระทรวงพลังงานแถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ปี 2565 ของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน และแผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ปี 2566 โดยระบุว่า ทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2566 ยังต้องติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ตามเป้าหมาย
สำหรับแผนงานสำคัญของกระทรวงพลังงานในปี 2566 จึงมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน โดยได้วางแผนงานและโครงการแบ่งเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย
มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแผนพลังงานชาติและแผนพลังงานรายสาขาใหม่เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 มีแผนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก ปลดล็อค ปรับปรุงกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนรถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาศักยภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการนำเข้า Spot LNG เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง บนหลังคาสำหรับหน่วยงานของรัฐ การบังคับใช้เกณฑ์ด้านพลังงานสำหรับการออกแบบอาคารสร้างใหม่ (BEC)
มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้า ชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปีประมาณ 37,700 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ในมิตินี้ยังมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญก็คือมาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานแบบเฉพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้มีรายได้น้อย
มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ โดยเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานรูปแบบ Interactive Dashboard แสดงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานผ่านการประมวลผลรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลในการดำเนินงานด้านพลังงาน
“ในปี 2566 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3 – 4% จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคเกษตร สถานการณ์กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่เรายังเผชิญปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนด้านพลังงาน และกระแสการลดโลกร้อนกำลังทวีความสำคัญ เพราะฉะนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง”
ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยจากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน การลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพประชาชนปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการสำคัญๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว ซึ่งในปี 2566 คาดว่าสถานการณ์ความผันผวนด้านพลังงานจะยังคงอยู่ และเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานจึงดำเนินโครงการสำหรับช่วยเหลือประชาชนสำหรับก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพต่อเนื่องจากปี 2565 โดยตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 และช่วยส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 นอกจากนี้ ปตท.ยังคงให้ส่วนลดแก่ร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าครองชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนต้องมีการเดินทางจำนวนมาก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย กระทรวงพลังงานโดยความร่วมมือกลุ่ม ปตท. จะตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2565 – 3 มกราคม ครึ่งราคาที่พักที่เขื่อน กฟผ. และการส่งเสริมสินค้าชุมชนผ่านโครงการเอนจี้ มีดี และแจกผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็น Box Set ให้ผู้เดินทางที่กลับจากต่างจังหวัดโดยรถไฟอีกด้วย
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการหลายด้าน ประกอบด้วย ด้านลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยช่วยลดภาระค่า Ft ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมูลค่าการช่วยเหลือทางด้านพลังงานในปี 2565 รวมทั้งสิ้นกว่า 232,800 ล้านบาท
โดยที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านราคาน้อยที่สุดจากความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยแนวทางในการบริหารจัดการพลังงานหากเกิดสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในปี 2566 จะเน้นดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าจากเดิมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นการใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีราคาต่ำก่าการนำเข้า Spot LNG เช่น น้ำมันดีเซล นำมันเตา ถ่านหินจากแหล่งแม่เมาะ การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำที่นำเข้าจาก สปป. ลาว 2) การลดความต้องการใช้ก๊าซในประเเทศ ด้วยการลดรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตประเภท SPP รวมถึงขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม 3) การเพิ่มการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน และการนำก๊าซจากอ่าวไทยเข้าสู่การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มก๊าซฯ Bypass และลดการใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ด้านสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ได้จัดทำแผนพลังงานชาติ และแผนย่อยรายสาขา เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานของไทยรองรับสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ ตลอดจนการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซเอราวัณ และแหล่งบงกช การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 ในประเทศ จัดทำโรดแมประบบเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ด้านส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า โครงการพลังงานทดแทนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และโครงการอื่นๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 260,000 ล้านบาท ด้านส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันมี 869 สถานีทั่วประเทศ การประหยัดพลังงานหน่วยงานรัฐ ตลอดจนด้านการอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน อาทิ ปรับปรุงการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาด้านการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-service) เพื่ออำนวยความสะอาด ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผู้รับบริการพลังงานชาติ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และมุ่งเน้นส่งเสริมความมั่นคงภาคพลังงานเพื่อรองรับรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ระบุว่า แผนพลังงานชาติ มีแนวนโยบายที่สำคัญคือ เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกำลังผลิตใหม่ให้มากกว่าร้อยละ 50, ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่าร้อยละ 30 – 40, ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามแนวทาง 4D1E เช่น การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนย่อยรายสาขาด้านพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะเสนอร่างแผนพลังงานชาติภายในปี 2566
ทั้งนี้ สนพ.ยังมีแผนงานด้าน EV โดยขับเคลื่อนแผนงานด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการส่งเสริมการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องกำหนดมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถานีฯ เช่น การกำหนดค่าไฟของผู้ให้บริการที่อัตรา Low Priority การให้สิทธิประโยชน์ BOI รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV โดยร่วมกับกรมสรรพสามิต ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศภายในปี 2568
นอกจากนี้ สนพ.อยู่ระหว่างการร่างแผนบูรณาการการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าระยะ 5 ปี (ปี 2565 – 2570) เป็นการบูรณาการการลงทุนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการของ 3 การไฟฟ้าทั้งในส่วนระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า สำหรับในปี 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะจัดทำและทบทวนแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นระยะๆ พร้อมทั้งจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง กำกับดูแลผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาในการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการหยุดซ่อมบำรุงให้เป็นไปตามแผน โดยในระยะยาว กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงเพิ่มเติม ได้แก่ การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 24) จำนวน 3 แปลง ในบริเวณทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 35,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอการพิจารณาคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
นอกจากนั้น ด้านการดำเนินงานและพัฒนา เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศไทย จะเร่งผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและมีประสิทธิภาพสูงในการจัดการ CO2 เพื่อเป็นไปตามนโยบายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ การดำเนินงานด้าน CCUS ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันมีการ
ดำเนินงานด้าน CCUS ในประเทศ 23 โครงการ มีโครงการนำร่องที่สำคัญ ได้แก่ โครงการอาทิตย์ตั้งอยู่ในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา จะเริ่มอัด CO2 ได้จริงภายในปี ค.ศ. 2026 โครงการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน คาดว่าจะมีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 ในชั้นหินอุ้มน้ำเค็ม เพื่อจัดการ CO2 ที่มีการปลดปล่อยบริเวณพื้นที่จากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของประเทศ และโครงการแอ่งแม่เมาะและแอ่งลำปาง จังหวัดลำปาง โดยร่วมกับกรมการพลังงานทหาร กฟผ. ปตท.สผ. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาพื้นที่ศักยภาพเพื่อใช้ในการกักเก็บ CO2 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า สำหรับแผนงานในปี 2566 มีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การบังคับใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (BEC) ซึ่งการบังคับใช้จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และในปี 2566 BEC จะมีผลบังคับใช้ในอาคารพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ตรม.ทันที คาดจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท รวมถึง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1 ล้านตัน/ปี การส่งเสริมให้ส่วนราชการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และนำร่อง ESCO อนุรักษ์พลังงาน, การพัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงิน, สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการใช้อุปกรณ์ เครื่องจักรประสิทธิภาพสูง, โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทําให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปี มูลค่ารวมกว่า 37,700 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานใน 2 กลุ่ม คือ การช่วยเหลือราคา LPG กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่เมษายน 2565 – มีนาคม 2566 โดยใช้งบกลางสนับสนุนส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จาก 45 บาท/คน/3 เดือน เพิ่มอีก 55 บาท/คน/3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/3 เดือน มีผู้ใช้สิทธิ์โดยเฉลี่ยในแต่ละรอบประมาณ 5 ล้านราย สามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 950 ล้านบาท และการช่วยเหลือราคาเบนซินสำหรับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (วินเซฟ) ตั้งแต่พฤษภาคม – กรกฎาคม 2565 โดยรัฐสนับสนุนวงเงินร่วมจ่ายแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะในการเติมน้ำมันกลุ่มเบนซินร้อยละ 50 ของค่าน้ำมัน เดือนละ 250 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวน 3 เดือน รวม 750 บาท/คน ทั้งนี้ มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะเข้าร่วมโครงการ 44,651 ราย สามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพประมาณ 18 ล้านบาท
กรมธุรกิจพลังงานยังปรับบทบาทกรมธุรกิจพลังงานเพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นปิโตรเลียมสนับสนุนการลงทุนต่อยอดในธุรกิจใหม่ ได้แก่ ปิโตรเคมีขั้น
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา EV ได้มีการตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติงาน เพื่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดรูปแบบการส่งเสริมการติดตั้งและกำกับดูแลสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในบริเวณพื้นที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566 เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายในสถานีบริการ รูปแบบการดำเนินการ การกำกับดูแลและข้อกฎมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะในปี พ.ศ. 2573 จำนวน 12,000 หัวจ่าย
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ.ยังจำเป็นจะต้องได้รับเงินจากการแบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงฯ เพื่อทยอยจ่ายคืนหนี้ โดย ณ สิ้นเดือนธ.ค.นี้ จะรวมเป็น 1.6 แสนล้านบาท เพราะไม่สามารถกู้เงินได้อีกแล้ว ดังนั้น หากจะช่วยเหลือค่าไฟจำเป็นที่รัฐจะต้องพิจารณางบประมาณมาสนับสนุน หรือ การยกเว้นการนำเงินส่งเข้าคลังของกฟผ.ทั้งหมดในปีงบประมาณ 2565 เท่านั้น เพื่อมาชดเชยกับภาระที่กฟผ.จะได้รับทยอยคืนเงินจากการคำนวณค่าไฟงวดม.ค.-เม.ย. 66 เฉลี่ยที่คำนวณไว้ราว 0.33 บาทต่อหน่วย