ผู้ชมทั้งหมด 2,093
“พลังงาน” ลุยปรับพอร์ตผลิตไฟฟ้าช่วง 10ปี ตามแผนPDP 2022 หั่นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ลดลง 700 เมกะวัตต์ ดันเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 1,000 เมกะวัตต์ เกลี่ยโควตาโซลาร์ฯ เพิ่มซื้อไฟพลังน้ำ ขยะ ลม ขานรับเป้าหมายลดโลกร้อน
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2564 มีมติปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วง 10 ปีแรก(ปี 2564-2573) ตามการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP 2022) ที่จะมุ่งเน้นการลงทุนในเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนและเชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070
โดยในส่วนของกระทรวงพลังงาน ได้เตรียมแนวทางเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50%
ดังนั้น การจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP 2022) หรือ แผน PDP ฉบับใหม่ ได้มีการเกลี่ยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแผน PDP2018 rev.1 ในเบื้องต้น โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล จากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ แผนเดิม อยู่ที่ 5,550 เมกะวัตต์ จะเป็น 4,850 เมกะวัตต์ หรือ ลดลง 700 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังคงสัดส่วนเดิม ที่ 600 เมกะวัตต์
โดยหันไปเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ทั้งในส่วนของ โซลาร์เซลล์ พลังงานลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ และพลังน้ำ ดังนี้ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำต่างประเทศ จากแผนเดิม อยู่ที่ 1,400 เมกะวัตต์ จะเป็น 2,766 เมกะวัตต์ หรือ เพิ่มขึ้น 1,366 เมกะวัตต์ ,พลังงานแสงอาทิตย์ จากแผนเดิม อยู่ที่ ถมตภ เมกะวัตต์ จะเป็น 4,455 เมกะวัตต์ หรือ ลดลง 739 เมกะวัตต์, พลังงานลม จากแผนเดิม อยู่ที่ 270 เมกะวัตต์ จะเป็น 1,500 เมกะวัตต์ หรือ เพิ่มขึ้น 1,230 เมกะวัตต์,ชีวมวล จากแผนเดิม อยู่ที่ 1,120 เมกะวัตต์ จะเป็น 485 เมกะวัตต์ หรือ ลดลง 635 เมกะวัตต์,ก๊าซชีวภาพ จากแผนเดิม อยู่ที่ 783 เมกะวัตต์ จะเป็น 335 เมกะวัตต์ หรือ ลดลง 448 เมกะวัตต์,ขยะ จากแผนเดิม อยู่ที่ 400 เมกะวัตต์ จะเป็น 600 เมกะวัตต์ หรือ เพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ จะส่งผลให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้ารวมใน 10 ปี(ปี 2564-2573) จากแผน PDP2018 rev.1 กำหนด อยู่ที่ 15,343 เมกะวัตต์ ตามแผน PDP 2022 จะอยู่ที่ 15,643 เมกะวัตต์ หรือ เพิ่มขึ้น 300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้ให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใน 10 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 26-27% จากปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 23%
“ตามแผนใหม่ โรงไฟฟ้าชุมชน ใน 10ปีนี้ จะยังรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มราว 400-500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ ส่วนเชื้อเพลิงขยะ ในส่วนของขยะชุมชน จะคงโควตาเดิม 400 เมกะวัตต์ แต่จะเพิ่มขยะอุตสาหกรรม จากเดิมกำหนด 44 เมกะวัตต์ เป็น 200 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซฯที่หายไป 700 เมกะวัตต์ จะเป็นในส่วนของโรงไฟฟ้าใหม่ ไม่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ในภาคอีสานที่ปรับลดลง”
นายวีรพัฒน์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงาน สามารถเดินหน้าเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 ได้ตามแผนเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบในปี 2566-2567 ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนาดไปกับการจัดทำ ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP 2022) ที่คาดว่า จะแล้วเสร็จในกลางปีหน้า
โดยเบื้องต้น ในปี 2565 จะมีโควตา รับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ 10 เมกะวัตต์ และพลังงานน้ำขนาดเล็ก 10 เมกะวัตต์ ส่วนปี 2566 แบ่งเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ ชีวมวล 100 เมกะวัตต์ และชีวภาพ 40 เมกะวัตต์ เป็นต้น