ผู้ชมทั้งหมด 412
“พลังงาน” ชูโมเดลผลิตก๊าซชีวภาพใช้ทดแทนแอลพีจี ในพื้นที่ตำบลศรีบัวบาน จังหวัดลำพูน หนุนชุมชนลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน
นายเพทาย หมุดธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ (1.) บ้านหนองหล่ม หมู่ที่ 8 จำนวน 3 บ่อ (2.) บ้านป่าป๋วย หมู่ที่ 10 จำนวน 2 บ่อ และ (3.) บ้านทุ่งยาว หมู่ที่ 7 จำนวน 3 บ่อ ทั้ง 3 หมู่บ้าน รวม 8 บ่อ ขนาดบ่อละ 100 ลบ.ม. มาใช้ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากกลิ่นเหม็นของเสียและมูลสุกรภายในฟาร์ม ที่อยู่ภายในหมู่บ้านและบริเวณโดยรอบ ทั้ง 3 หมู่บ้าน พร้อมทั้งได้ใช้พลังงานจากก๊าซชีวภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
สำหรับการลงทุนผลิตก๊าซชีวภาพในพื้นที่ 3 หมู่บ้านได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2543-2544 ในสัดส่วน 40% ของงบลงทุนราว 5 แสนบาทต่อบ่อ นอกจากการสนับสนุนการผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวแล้ว ต่อมายังได้มีการพัฒนาต่อยอดด้วยการต่อท่อส่งก๊าซชีวภาพแบบเครือข่าย (Biogas Network) โดยความร่วมมือของเทศบาลและชุมชน ที่ช่วยให้คนในชุมชนได้ใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือนของทั้ง 3 หมู่บ้าน แบ่งเป็นบ้านหนองหล่ม จำนวน 70 ครัวเรือน บ้านป่าป๋วย จำนวน 70 ครัวเรือน และบ้านทุ่งยาว จำนวน 40 ครัวเรือน ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างคุ้มค่า และเป็นการประหยัดพลังงานของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาระบบ Biogas Network มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพการกรองก๊าซชีวภาพ โดยเฉพาะก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ซึ่งส่งผลให้ภาชนะหุงต้มผุพัง รวมถึงอุปกรณ์ภายในบ้านที่เป็นโลหะต่าง ๆ เสียหาย อีกทั้งยังมีปัญหาแรงดันก๊าซเบา เนื่องจากไม่มีสถานีเพิ่มแรงดันทำให้ก๊าซไปไม่ถึงปลายท่อ ชุมชนและเทศบาลจึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ซีเนอร์จี้ โซลูชั่นส์ จากสหรัฐอเมริกา ที่ได้คิดค้นและจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีการดูดซับก๊าซธรรมชาติ (Adsorbent Natural Gas : ANG)
โดยบริษัทฯ ได้มอบเทคโนโลยีพร้อมอุปกรณ์ในการบรรจุแก๊สลงถัง ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดูดซับก๊าซ หรือ ANG ในการอัดเก็บก๊าซชีวภาพที่ได้มาจากฟาร์มสุกรของหมู่บ้าน และมีระบบการกรองและกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ ก๊าซไข่เน่า (H2S) และความชื้นที่มากับก๊าซชีวภาพ ทำให้ก๊าซชีวภาพที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องภาชนะ หรืออุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของโลหะของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ก๊าซชีวภาพดังกล่าวอย่างได้ผล
ปัจจุบันมีการอัดใส่ถังก๊าซความจุ 47.5 ลิตร โดยถังที่อัดด้วยความดัน 20 บาร์ สามารถใช้ทำอาหารได้ประมาณ 5-7 วัน ในราคาถังละ 70 บาท และถังก๊าซที่อัดด้วยความดัน 40 บาร์สามารถใช้ทำอาหารได้ประมาณ 10-15 วัน ในราคาถังละ 130 บาท ปัจจุบันสถานีอัดก๊าซมีจำนวน 1 สถานีที่บ้านทุ่งยาว ครอบคลุมการใช้งานประมาณ 70 ครัวเรือน และการต่อท่อก๊าซจากแหล่งผลิตโดยตรงจำนวน 25 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามสำหรับสถานีอัดก๊าซที่บ้านทุ่งยาวนั้นสามารถบรรจุก๊าซลงถังได้ประมาณ 40 ถังต่อวัน หรือ 200 ลบ.ม. โดย ซีเนอร์จี้ จะรับซื้อก๊าซชีวภาพในหมู่บ้านทุ่งยาว จำนวน 5 บ่อ 4 ฟาร์มในราคารับซื้อ 3 บาทต่อลบ.ม.
ทั้งนี้สำนักงานพลังงานจังหวัดลำพูน อยู่ระหว่างการผลักดันสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาการบรรจุก๊าซชีวภาพลงถังสำหรับใช้ในครัวเรือนให้มีมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัย สามารถขยายการใช้งานให้ครอบคลุมทั้งตำบลศรีบัวบานและพื้นที่ใกล้เคียงในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น นำไปสู่การส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพ ทดแทนก๊าซ LPG ทั้งชุมชนในระดับตำบล ลดการปล่อย CO2 จากพลังงานทดแทนสู่เป้าหมายชุมชนลดคาร์บอนและปลอด LPG
“กระทรวงพลังงานส่งเสริมให้ประชาชนในทุกภาคส่วน ใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในระดับชุมชน ซึ่งเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสฟิส ได้แก่ แสงอาทิตย์ น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นพลังงานที่มีศักยภาพ สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ช่วยปัญหามลพิษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้” นายเพทาย กล่าว