“พลังงาน” ชี้ แผน PDP 2024 เปิดทางสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 47,251 MW

ผู้ชมทั้งหมด 1,180 

“พลังงาน” เปิดเวทีวันแรก รับฟังความเห็น “ร่าง PDP 2024” และ “ร่างแผน Gas Plan 2024 ชี้ต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 47,251 เมกะวัตต์  และการผลิตไฟฟ้าสำรอง 12,957 เมกะวัตต์  ขณะที่ กฟผ.ได้โควตา 6,572 เมกะวัตต์  พ่วงโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนอีก 2,681 เมกะวัตต์ คุมค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผนลดลงเหลือ 3.8704 บาทต่อหน่วย ยัน “โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี” ยังเป็นหนึ่งในทางเลือก

กระทรวงพลังงาน เปิดรับฟังความเห็นกลุ่มราชการและรัฐวิสาหกิจต่อ “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024)” และ “ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพ ห้องแกรนด์บอลรูมเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567

สำหรับสาระสำคัญของร่างแผน PDP 2024 ได้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ(พีคไฟฟ้า)ช่วงปลายแผนในปี 2580 อยู่ที่ 56,133 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา (ณ ธ.ค. 2566) อยู่ที่ 53,868 เมกะวัตต์ แต่ในช่วงระยะยาวจะมีโรงไฟฟ้าที่หมดอายุและปลดออกจากระบบจำนวน 18,884 เมกะวัตต์ ทำให้ไฟฟ้าในระบบเหลือเพียง 34,984 เมกะวัตต์

กระทรวงพลังงาน จึงได้วางแผนจัดหาไฟฟ้าใหม่ในแผน PDP 2024 เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคตมารองรับอีก  77,407 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาทั้งสิ้น 112,391 เมกะวัตต์ ในช่วงปลายแผนปี 2580

โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 77,407 เมกะวัตต์ มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 47,251 เมกะวัตต์  แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 34,851 เมกะวัตต์ , โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) 600 เมกะวัตต์ ,การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และอื่นๆ (DR, V2G) 2,000 เมกะวัตต์

2.กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง 12,957 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ 10,485 เมกะวัตต์ และ 3.โรงไฟฟ้าที่มีสัญญาข้อผูกพันไปแล้ว 17,199 เมกะวัตต์

ขณะที่ในส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่จะมีกำลังการผลิตใหม่ 34,851 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น แสงอาทิตย์ 24,412 เมกะวัตต์ ,พลังงานลม 5,345 เมกะวัตต์ ,ชีวมวล 1,045 เมกะวัตต์ ,ก๊าซชีวภาพ 936 เมกะวัตต์ ,แสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์, ขยะอุตสาหกรรม 12 เมกะวัตต์ ,ขยะชุมชน 300 เมกะวัตต์ ,พลังน้ำขนาดเล็ก 99 เมกะวัตต์ และความร้อนใต้พิภพ 21 เมกะวัตต์  คิดรวมเป็น 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากแผนเดิม PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีสัดส่วนพลังงานทดแทนเพียง 36%

ส่วนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน PDP2024 จะอยู่ที่ 3.8704 บาทต่อหน่วย ต่ำกว่าแผนเดิม PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (หากใช้สมมติฐานเดียวกันมาคำนวณ) ค่าไฟฟ้าจะสูงกว่าอยู่ที่ 3.9479 บาทต่อหน่วย เนื่องจากปรับสมมติฐานราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้า รวมถึงมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในราคาที่ถูกลง  

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าร่างแผนPDP 2024 ยังไม่ได้ตัดแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินโครงการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ออกไปจากแผน ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในแผน PDP 2018 และร่างแผนPDP 2024 ก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่าในร่างแผน PDP 2024 พื้นที่ภาคใต้ ยังจำเป็นต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ จึงได้เปิดโอกาสสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าจะนะ(ทดแทน) หรือ โรงไฟฟ้าขนอมส่วนขยาย รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม(ก๊าซฯ)แห่งใหม่ พื้นที่ภาคใต้ 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม พื้นที่ภาคตะวันตก อีก 1,400 เมกะวัตต์

แต่การจะตัดสินว่า จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ยังต้องศึกษาความเหมาะสมต่อไป เพราะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานียังมีข้อจำกัดเรื่องเงินลงทุนสูง เพราะต้องมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ ระยะทางยาวกว่า 100 เมตรเพื่อรองรับการจัดส่งก๊าซฯป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า และยังต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนว่า จะสร้างคลังรับ-จ่ายก๊าซฯ หรือจะเป็นลักษณะของคลังลอยน้ำ(FSRU) เพราะอาจมีเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาได้

“ภาคใต้ ยังไงก็ต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น เพราะยังขาดไฟฟ้าราว 600-700 เมกะวัตต์ และจุดอ่อนคือฝั่งอันดามันไม่มีโรงไฟฟ้า ดังนั้นโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี จึงยังไม่ได้ตัดออกไปจากแผนPDP แต่ยังมีจุดอ่อนที่ต้องศึกษาให้รอบคอบ ซึ่งเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง เช่น 1.อาจเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีไปอยู่ช่วงปลายแผนPDP  2.เปลี่ยนไปสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อื่นแทน และ3.ดูเทคโนโลยีอื่นๆเพิ่มเติม”

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แผน PDP 2024 จะเห็นว่า สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไม่ได้ลดลง เพราะหากพิจารณาจากแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ปี 2567-2580 ทาง กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการ จำนวน 3,500 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 3 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2571,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 5 ขนาดด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2573, โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 3 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปี 2577, โรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 6 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ปี 2578, โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 4 ขนาด 700 เมกะวัตต์ ในปี 2579

นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าสูบกลับที่ กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการ อีก 2,472 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เขื่อนจุฬาภรณ์ 801 เมกะวัตต์ ปี 2577, โรงไฟฟ้าสูบกลับ เขื่อนวชิราลงกรณ 891 เมกะวัตต์ ปี 2579 และโรงไฟฟ้าสูบกลับ เขื่อนกระทูน 780 เมกะวัตต์ ปี 2580

อีกทั้ง ยังมีในส่วนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ที่มีแนวโน้มว่า กฟผ.จะต้องดำเนินการ อีก 2 แห่ง กำลังผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ ในปี 2580 ดังนั้น กฟผ. จะได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ ปี 2567-2580 ตามแผน PDP 2024 รวมประมาณ 6,572 เมกะวัตต์ 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพลังงานทดแทน กำลังผลิตรวม 34,851 เมกะวัตต์ จะมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ.จะเป็นผู้ดำเนินการ คือ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ 2,681 เมกะวัตต์ และในอนาคตหากการผลิตไฟฟ้าแบบทุ่นลอยน้ำมีศักยภาพในการผลิตมากขึ้น อาจเกลี่ยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดไว้ที่ 24,412 เมกะวัตต์ นำมาใช้โควตาจากส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ปี 2567-2580 ตามแผน PDP 2024 ในส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม(โรงใหม่) ที่กำหนดปริมาณทั้งสิ้น 2,800  เมกะวัตต์นั้น มีโอกาสที่จะเปิดให้ทั้งภาคเอกชน หรือ กฟผ. เข้ามาดำเนินการผลิตได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐบาลที่จะพิจารณาความเหมาะสมในอนาคต เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้า Battery Energy Storage System (BESS) หรือ ระบบกักเก็บพลังงาน รวม 10,485 เมกะวัตต์ ที่ยังขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายของภาครัฐด้วยเช่นกัน

สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2567-2580 (Gas Plan 2024) มีสาระสำคัญระบุว่า ความต้องการก๊าซธรรมชาติในช่วงปี 2567-2580 จะอยู่ที่ 4,700 – 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะมีการจัดหาก๊าซฯในแหล่งที่มีศักยภาพในอ่าวไทยและเมียนมาเพิ่มขึ้น ทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลดลง  ทั้งนี้ ไม่ได้นำก๊าซฯ จากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) มาพิจารณา เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจน ส่วนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ ยังสามารถรองรับก๊าซฯ ในปัจจุบันได้เพียงพอ แต่ในอนาคตต้องมีการพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฯ เพิ่มเติม ทั้งในส่วนของการรองรับการนำเข้า LNG ถังเก็บก๊าซฯ และระบบรับส่งก๊าซฯ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและใช้ในการบริหารจัดการรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศในช่วงพีคไฟฟ้า,ใช้เชิงพาณิชย์,ใช้ในอุตสาหกรรม หรือรองรับ Regional LNG Hub

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนดังกล่าวตามขั้นตอนแล้ว คาดว่า จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับต่อไป คาดว่าจะประกาศใช้แผน PDP2024 ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้