ผู้ชมทั้งหมด 399
“พลังงาน” เตรียมเสนอ ครม. ขอ “งบกลาง-ลดภาษีสรรพสามิต” อุ้มราคาดีเซล หลังกองทุนน้ำมันฯ แบกภาระชดเชยราคาติดลบใกล้ทะลุแสนล้านบาท ชี้หากไม่มีงบหนุน อาจต้องทยอยปรับอัตราชดเชยแบบขั้นบันไดให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด
นับจาก กระทรวงพลังงาน มีมาตรการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือน กันยายน 2566 เป็นต้นมา เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เนื่องจากน้ำมันดีเซลถือเป็นต้นทุนหลักของสินค้าและบริการ ส่งผลให้ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการชดเชยราคาน้ำมันดีเซล แบกภาระหนี้สะสมใกล้ระดับ 1 แสนบาทแล้ว
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมนำเสนอเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมิให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้มากเกินไป และเป็นการรักษาสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของกองทุนฯ รวมถึงช่วยลดผลกระทบที่จะส่งผ่านถึงประชาชน ซึ่งกระทรวงพลังงาน เตรียมนำเสนอให้ ครม.พิจารณาจัดหางบประมาณจากส่วนอื่นๆเข้ามาช่วย เช่น งบกลาง หรือ การลดอัตราภาษีสรรพสามิต ขณะเดียวกันเบื้องต้นคาดว่า กองทุนฯ จะต้องปรับลดอัตราการชดเชยราคาน้ำมันลง 1-2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่เพื่อมิให้เป็นภาระกับประชาชนมากเกินไป จึงจะมีการปรับลดการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได
“หากไม่มีงบประมาณเข้ามาช่วยเหลือ กองทุนฯ จำเป็นต้องปรับลดอัตราการชดเชยลง 1-2 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จะมีการปรับลดอัตราการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันได ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน เข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน จะเห็นได้ว่า ได้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนของสินค้าและบริการ จึงได้มีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ที่ 30 บาทต่อลิตรมาอย่างต่อเนื่อง และบางช่วงราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงเคยสูงถึง 45 บาทต่อลิตร จนทำให้ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2567 สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบกว่า 98,000 ล้านบาท”
ปัจจุบัน มีการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 4.17 บาทต่อลิตร คิดเป็นจำนวนเงินที่กองทุนฯ ต้องจ่ายประมาณ 8,700 ล้านบาทต่อเดือน จึงขอให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์ ณ เวลานี้ด้วย