“พลังงาน”ตั้งคณะทำงานฯเร่งถกแนวทางลดค่าไฟ คาดชัดเจน 2-3 เดือน

ผู้ชมทั้งหมด 127 

“ปลัดกระทรวงพลังงาน” เผย คณะทำงานฯ เร่งหารือแนวทางปรับลดค่าไฟฟ้า คาดชัดเจน 2-3 เดือนนี้ ขณะที่ปี68 กระทรวงพลังงาน เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างราคาพลังงานลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เดินหน้าผลิตพลังงานสะอาด  ลุยเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน (รอบที่ 26)

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาล เหลือระดับ3.70 บาทต่อหน่วยนั้น กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้จัดตั้งคณะทำงานฯขึ้นมาพิจารณาในเรื่องนี้ โดยส่วนหนึ่งจะนำแนวทางที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เสนอวิธีการลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ต่อหน่วย ด้วยการทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่ได้รับการสนับสนุนเงินส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) เข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าว ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยพิจารณาและหารือกับผู้ประกอบการมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ตรงกัน และยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ

“การจะลดค่าไฟฟ้าลงนั้น มีได้หลายแนวทาง ซึ่งคณะกรรมการฯ ที่จัดตั้งขึ้นจะมีการพิจารณาในหลายทางเลือก คาดว่าจะมีโซลูชั่นที่ออกมาภายใน 2-3 เดือนนี้ จากนี้จะนำไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงเท่าที่จะเป็นไปได้ต่อไป แต่จะทันการปรับลดค่าไฟฟ้าในงวดที่สอง(พ.ค.-ส.ค.2568) หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ในตอนนี้” 

นายประเสริฐ ยังได้นำคณะผู้บริหารแถลงแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 ภายใต้หัวข้อ ”New Chapter เปิดศักราชใหม่พลังงานไทย จาก ภาพฉาย สู่ ภาพชัด” โดยในปี 2568 นี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย โดยมุ่งเน้น “ประชาชนและประเทศ” เป็นสำคัญ ผ่าน 3 เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านพลังงาน ประกอบด้วย 1) ความมั่นคงทางพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน 2) พลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และ 3) พลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์ที่หลายบริษัทชั้นนำระดับโลกมุ่งหาพลังงานสะอาด

โดยกุญแจสำคัญในการทำให้แผนการขับเคลื่อนด้านพลังงานมีความชัดเจน จากภาพฉายกลายเป็นภาพชัดให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานได้วางกรอบ 5 นโยบายสำคัญ ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ในประเทศ โดยจะเร่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล 2) บริหารจัดการระบบพลังงานให้มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นเพื่อรองรับพลังงานทุกรูปแบบ ทั้งการพัฒนาระบบสำรองเชื้อเพลิงและการตรวจสอบปริมาณสำรอง การพัฒนาระบบ Smart Grid การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบ SPR และการยกระดับระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตแบบกระจายศูนย์ 3) ส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงาน กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เร่งขับเคลื่อนพลังงานสะอาดเพื่อเปิดรับการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Data Center ผ่านมาตรการเช่น Direct PPA, UGT และการปรับแผน PDP ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น 4) เตรียมเสนอมาตรการด้านพลังงานสีเขียว ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Roof ผลักดันมาตรการทางภาษี การลดขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้ง การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลเพื่อลดการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ก็จะเป็นอีกตัวช่วยในการลดฝุ่น PM2.5 และ 5) สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ ทั้งพลังงานไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนเอทานอลมาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเครื่องบินหรือ SAF การพัฒนาการกักเก็บ CO2 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2568 สนพ. ยังคงเดินหน้าสานต่อภารกิจที่ทำในปี 2567 ทั้งในส่วนของความมั่นคงด้านพลังงาน และ การดูแลราคาพลังงานให้มีความเหมาะสมกับประชาชน โดยมีงานสำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และ การปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานที่เหมาะสมทั้งในส่วนของโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และ โครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2569 – 2573 เป็นต้น

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ปี 2568 นั้น พพ. ยังคงเดินหน้าพลังงานสะอาดให้มากขึ้นและลดใช้พลังงานอย่างเข้มข้น ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงาน อาทิ ด้านความมั่นคง : พัฒนากฎหมายเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดให้คล่องตัวขึ้น ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานน้ำ ด้านเศรษฐกิจ : เร่งผลักดันมาตรการทางภาษีส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, ด้านความยั่งยืน : ยกระดับมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงาน พร้อมเร่งรัดจัดการเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนเพื่อลดปัญหา PM2.5 เป็นต้น

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2568 จะมีการนำร่องการเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณน้ำมันสำรองผ่าน API Gateway เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และจะขยายการให้บริการระบบอนุมัติอนุญาตแบบออนไลน์ไปยังส่วนภูมิภาค อีกทั้งจะออกมาตรฐานความปลอดภัยของเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของ SAF เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยในการใช้เชื้อเพลิง

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า สำหรับในปี 2568 กรมฯ มีแผนงานสำคัญคือการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอันดามัน (รอบที่ 26) การเร่งรัดการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในแปลงที่ใกล้สิ้นสุดอายุทั้งในประเทศและพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ประกอบกับส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งผลักดันการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี CCS สำหรับโครงการนำร่องพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน