ผู้ชมทั้งหมด 56
“พีระพันธุ์” ยัน ลดค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.2568 ไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สามารถใช้เงินที่เก็บตามประกาศ กกพ. มามาดำเนินการได้ ชี้ ข้อสั่งการ ครม.ให้ “บอร์ด กฟผ.-กฟผ.-กกพ.” ดำเนินการ 3 เรื่องในการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง ภายใน 45 วันสามารถทำได้ตามกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(2 เม.ย.2568) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว : พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค – Pirapan Salirathavibhaga เป็นคลิปสัมภาษณ์ เกี่ยวกับการปรับลดค่าไฟฟ้าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2568 โดยระบุว่า ตามที่มติ ครม. กำหนดเวลา 45 วัน ให้กระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าระยะยาว 3 ข้อ และให้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อ ครม. ภายใน 45 วัน ยืนยันว่า เป็นเพียงการศึกษาถึงปัญหาค่าไฟฟ้าและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข ดังนั้นสามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลาแน่นอน
ส่วนราคาค่าไฟฟ้าที่ ครม. กำหนดเป้าหมายให้ลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 มั่นใจว่าสามารถปรับลดลงได้ ถ้าปรับตามที่ผมให้ไปดำเนินการ โดยเฉพาะเงินที่ กกพ. เคยเก็บอยู่ตามประกาศ กกพ. เรื่องการออกหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งมีการเก็บเงินจาก กฟผ. ไป ตามวัตถุประสงค์เพื่อไว้ลดค่าไฟฟ้า ซึ่งส่วนนี้สามารถหักมาลดค่าไฟฟ้าได้
โดยค่าไฟฟ้าที่ประชาชนเห็นว่าลดน้อยเพียง 3 สตางค์ต่อหน่วยนั้น ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อปี 2567 ค่าไฟฟ้าราคา 4.18 บาทต่อหน่วย และปลายปี 2567 กกพ. จะประกาศค่าไฟฟ้าถึง 4.70 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อผมได้ตรวจสอบแล้วก็สามารถลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วยและใช้มาจนถึงงวดปัจจุบัน (ม.ค. – เม.ย. 2568) ดังนั้นการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ต้องเทียบกับการลดจากค่าไฟฟ้า 4.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้มาก
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าระยะยาว 3 ข้อ ได้แก่ 1. หาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในรูปแบบการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) รวมถึงการแก้ไขเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุสัญญาต่อเนื่องโดยไม่มีวันกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาไว้
โดยจากการหารือกับทางกฤษฎีกา พบว่า เรื่องสัญญาค่าไฟฟ้าดังกล่าวไม่สามารถแก้ได้ด้วยการบริหาร ดังนั้นต้องหาช่องทางว่าจะดำเนินการได้อย่างไร ซึ่งสัญญามีกว่า 500 สัญญาและทั้งหมดอยู่ที่ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) โดยอยู่ที่ กฟผ.มากที่สุด ซึ่งกระทรวงพลังงานไม่สามารถเห็นสัญญาดังกล่าวได้ ในการปรับแก้ไขจึงทำให้ยาก และที่ผ่านมา กกพ. เคยระบุว่า หากปรับแก้ไขสัญญาได้จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึง 17 สตางค์ต่อหน่วย
2.หาแนวทางแก้ปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญา PPA จากโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว ในทุกสัญญาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินสำควร หรือสูงเกินกว่าความเป็นจริง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากระทรวงพลังงานพยายามตรวจสอบในเรื่องสัญญา AP โดยสอบถามไปยัง กฟผ. ซึ่ง กฟผ. ยืนยันว่าไม่เคยเห็นหรือมีส่วนในการคิดคำนวณ ซึ่งตัวเลขมาจาก กกพ. ทั้งหมด และสัญญาก็เป็นความลับ ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ไม่สามารถดึงมาพิจารณาได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาที่ ครม.มีมติให้ไปช่วยกันดูสัญญาและตรวจสอบแก้ไขว่าจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
และ3. หาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคในข้อตกลงในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้ศูนย์การควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการการสั่งผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดต่ำลงได้ โดยที่ผ่านมาศูนย์ SO จะสั่งผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเพื่อให้ค่าไฟฟ้าถูกลง แต่ก็ติดเงื่อนไขระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดในสัญญาว่า “ยังไงก็ต้องสั่งผลิตไฟฟ้า” ดังนั้นมติ ครม. จึงให้แก้ปัญหาเพื่อให้ SO สามารถสั่งผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนของ กฟผ. ลดต่ำให้ได้
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้ประชาชน มีราคาต่ำลง โดยให้ดำเนินการให้ทันรอบประกาศราคาไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2568
โดยการผลิตไฟฟ้าจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ซึ่งก๊าซฯ ที่ได้มาจาก Pool gas ที่นำมาจาก 3 ส่วนคือ 1. ก๊าซฯ ในอ่าวไทย 2.ก๊าซฯ นำเข้าจากเมียนมา และ3. ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งแบ่งการใช้ก๊าซฯ ไปยังส่วนการผลิตก๊าซหุงต้ม (LPG) ,การใช้ในภาคอุตสาหกรรม และการใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า ซึ่ง ครม. ได้ให้ สนพ. ไปศึกษาในส่วนที่นำก๊าซฯ มาใช้ผลิตไฟฟ้าเพื่อให้มีราคาต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน