พพ. ลุยอบรมเทคนิคการดัดแปลงรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดเล็ก สู่รถยนต์ไฟฟ้า

ผู้ชมทั้งหมด 422 

พพ. ลุยจัดอบรมเทคนิคการดัดแปลงรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดเล็กเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หวังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งทางบก ลดมลพิษทางอากาศ พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนทั่วประเทศ

นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยานพาหนะในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะรถยนต์บรรทุกเพื่อการพาณิชย์ หรือรถกระบะน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 1.5 ตัน ซึ่งใช้ในการขนส่งสินค้าทั่วไป สินค้าในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงขนส่งผู้โดยสารสาธารณะ มีจำนวนรวมกันมากกว่า 7 ล้านคัน จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงปัญหาความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ พพ. จึงได้จัด “อบรมเทคนิคการดัดแปลงรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดเล็กเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และการซ่อมบำรุงเบื้องต้น ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมการดัดแปลงรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดเล็กเป็นรถยนต์ไฟฟ้า” เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของแนวทางการปรับตัว เทคโนโลยีการปรับเปลี่ยนระบบเชื้อเพลิงจากระบบการเผาไหม้ภายในมาสู่การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากงานวิจัยศึกษาจากหลายภาคส่วน การดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดปริมาณการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในภาคขนส่งทางบกและลดมลพิษทางอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนให้แผนอนุรักษ์พลังงานพ.ศ. 2561 – 2580 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 บรรลุตามเป้าหมายของประเทศที่กำหนดไว้

โครงการนี้จะเป็นการพัฒนามาตรฐานการออกแบบ และจัดทำราคาที่เหมาะสมสำหรับการดัดแปลงรถบรรทุกและรถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานและความปลอดภัย เพื่อเป็นแนวทางในการดัดแปลงที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนดและกฎหมาย ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นปัจจุบันข้อมูลศักยภาพเชิงปริมาณของรถกระบะในธุรกิจขนส่งสินค้าและรถโดยสาร เพื่อประเมินศักยภาพในการส่งเสริมธุรกิจการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีศักยภาพการตัดแปลงรถบรรทุกและรถโดยสารไฟฟ้าทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะจัดทำหลักสูตรพร้อมอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ในการดัดแปลงและซ่อมบำรุงรถบรรทุกและรถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็กให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัย อีกทั้งในการจัดหลักสูตร พพ.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อให้หลักสูตรการอบรมมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมทุกด้านให้ได้มากที่สุด นอกจากการอบรมแล้ว ยังมีกิจกรรม Business Matching หรือการจับคู่ธุรกิจ ให้ผู้ประกอบการที่สนใจจะดัดแปลงรถ ได้พบกับผู้ประกอบการหรือสถาบันการศึกษา ที่รับดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้า

“ที่ผ่านมารัฐบาลมีได้ขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงอย่างจริงจัง ซึ่ง พพ. เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะสามารถพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ด้านการส่งเสริมการดัดแปลงรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดเล็กเป็นรถยนต์ไฟฟ้าให้กับประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสามารถขยายผลไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งผลิตเพื่อใช้งานในประเทศและส่งออกต่างประเทศได้ในอนาคต” นายชำนาญ กล่าว