ผู้ว่าการกทพ. ลงพื้นที่จ.ตราด ดูพื้นที่้สร้างทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง

ผู้ชมทั้งหมด 236 

ผู้ว่าการ กทพ. พร้อมคณะเข้าพบรองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เสนอโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง หวังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พร้อมด้วย นางสาวณัฐฐา กาสี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการทางพิเศษ นายธิษัณย์ พฤทธิพงษ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาโครงการทางพิเศษ นายเอนก โคตรพรมศรี ผู้อำนวยการกองจัดการสิ่งแวดล้อม นายรัชนัย เปรมปราคิน ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดตราด ณ ห้องประชุมพลอยแดง ศาลากลางจังหวัดตราด เพื่อนำเสนอถึงความเป็นมาของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด

รวมทั้งประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจต่อการดำเนินงานศึกษาในครั้งนี้ ต่อ นายณรงค์ เทพเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อโครงการ เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้นำไปใช้ประกอบการศึกษาในขั้นตอนถัดไป

การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดตราด ครั้งที่ 2/2563 นั้น กระทรวงคมนาคม จึงได้มีข้อสั่งการ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ กทพ.พิจารณาดำเนินการสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง ดังนั้น กทพ. จึงได้ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้างจังหวัดตราด เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทางสู่เกาะช้างได้มากยิ่งขึ้น

รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางไปยังเกาะช้างและส่งเสริมการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและการเงิน, เพื่อสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design), เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง

ทั้งนี้ นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการฯ ดังนี้

1. การเสนอแนวคิดจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดที่มีศักยภาพ และความเหมาะสมของโครงการ ฯ ทั้งในด้านวิศวกรรม ความคุ้มค่าการส่งเสริมทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในตัวเมืองจังหวัดตราด

2. รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าทางสังคม และการท่องเที่ยวในตัวเมืองจังหวัด

3. แนวทางการศึกษาและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบต่อพื้นที่อ่อนไหว ทางด้านสิ่ง แวดล้อม สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานที่ราชการ ชุมชน รวมถึงป่าสงวนแห่งชาติในการนี้ ส่วนราชการ เอกชน และภาคประชาชน จังหวัดตราด พร้อมสนับสนุน กทพ. เร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการ ฯ ให้เดินหน้าอย่างเต็มที่