ผู้ชมทั้งหมด 398
ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า VSPP ยื่นหนังสือถึง “พีระพันธุ์” ขอปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล หลังต้นทุนแพงขึ้น ชาวบ้านวอนรัฐบาลช่วยแรงงาน ต่ออายุโรงไฟฟ้าชีวมวล
นางปาริฉัตร์ สรรพมงคลไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กมลาไสย ไบโอ เพาเวอร์ 2010 จำกัด กล่าวว่า หลังจากในปี 2556 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีนโยบายการส่งเสริมการประกอบกิจการโรงไฟฟ้ารายใหม่ในรูปแบบโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก Small Power Plant SPP และขนาดเล็กมาก VSPP โดยภาครัฐทำสัญญาและอนุญาตให้ขายไฟฟ้า โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลประเภทเดียวกันในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าเดิม เมื่อความต้องการเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มมากขึ้นทำให้ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น เช่น แกลบ Rice Husk 500 บาท/ตัน เป็น 2,000 บาท/ตัน, ไม้ฟืน 500 บาท/ตัน เพิ่มเป็น 800 บาท/ตัน ทะลายปาล์ม 150 บาท/ตัน เพิ่มเป็น 300-350 บาท/ตัน ในปัจจุบัน รวมถึงต้นทุนการผลิตทั้งค่าใช้จ่าย ก่อสร้างโรงไฟฟ้า เครื่องจักรในระบบการผลิตไฟฟ้าค่าจ้าแรงงาน เงินกู้จากสถาบันการเงิน ส่งผลให้ต้นสูงขึ้นเป็นเท่าตัวมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหวจนต้องขอหยุดการประกอบกิจการไป
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ ข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้ากรณีต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Tariff (FIT) ใหม่ในราคาหน่วยละ 2.28 บาท เป็นราคารับชื้อไฟฟ้าในราคาต่ำมากไม่สะท้อนต้นทุนทุนการผลิตที่แท้จริง ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าไม่สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ภายใต้การรับซื้อในราคาเพียงเท่านี้ บริษัทเห็นว่า เมื่อประกาศของคณะกรรม กกพ. เห็นชอบโครงการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในช่วงเปลี่ยนผ่านจากแบบ Adder เป็น Feed in Tariff (FIT) ภาครัฐควรพิจารณาต่ออายุสัญญา เนื่องจากโรงไฟฟ้ายังคงมีอายุการใช้งาน 20 ปี ตามที่ออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้
ดังนั้นตนจึงได้ทำหนังสือถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้มีการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP พร้อมกับขอคัดค้านมติที่ประชุม กพช. (25 มิถุนายน 2567) กรณีรับซื้อไฟฟ้ากรณีต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Tariff (FIT) ในราคาหน่วยละ 2.28 บาท ดังนี้ 1.ราคาค่าไฟฟ้า หน่วยละ 2.28 บาท เป็นอัตรารับซื้อไฟฟ้าทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ยในการผลิตไฟฟ้า 1 หน่วย สูงกว่า 2.28 บาท 2.การกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราคงที่ ไม่ได้มีความแปรผันตามค่าเชื้อเพลิงชีวมวลแต่ละประเภทในแต่ละฤดู จึงเป็นราคาที่ไม่เหมาะสม
3.โรงไฟฟ้าแต่ละโรงยังคงมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เนื่องจากอายุของโรงงานยังเหลืออยู่ หากต้องประกอบกิจการต่อไป โดยมีเงื่อนไขให้จำหน่ายไฟฟ้าได้เพียงราคาหน่วยละ 2.28 บาท ผู้ประกอบการต้องขาดทุนจนปิดกิจการทันที 4.กรณี โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลรายเดิมต้องเลิกกิจการไป จะเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก หากส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ ต้องลงทุนเพิ่ม 700 ล้านบาทต่อโรงและต้องใช้ก่อสร้าง ทดสอบระบบ
อนึ่งบริษัท กมลาไสย ไบโอ เพาเวอร์ 2010 จำกัด (บริษัท) เป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ขายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขนาด 8 เมกะวัตต์ ได้รับส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2550 ขายกระแสไฟฟ้าแบบ Adder การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยใช้ เชื้อเพลิงชีวมวลที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า เช่น แกลบจากโรงสีข้าว, เศษไม้จากโรงเลื่อย, ทะลายปาล์มเปล่าจากโรงหีบน้ำมันปาล์ม, ชานอ้อยจากโรงหีบ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวล VSPP