ผู้ประกอบการรถโดยสารฯ ทนพิษดีเซลพุ่งไม่ไหวเรียกร้อง ขบ. ปรับขึ้นค่าโดยสาร

ผู้ชมทั้งหมด 386 

ผู้ประกอบการรถโดยสารฯ ทนพิษราคาดีเซลพุ่งไม่ไหว ชี้แบกต้นทุน 60% เรียกร้อง ขบ. ปรับค่าโดยสารขึ้น กิโลเมตรละ 1 สตางค์ต่อน้ำมันขึ้น 1 บาทต่อ 1 ลิตร พร้อมให้กลับไปใช้ประกาศโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันดีเซล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค.65 เวลา 15.00 น. นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร เจ้าของอู่รถเชิดชัย และบริษัทเดินรถเชิดชัยทัวร์ จำกัด นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย พร้อมด้วยผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เข้าพบนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อยื่นข้อเสนอให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาทบทวน การนำประกาศกรมการขนส่งทางบกตามมติ คณะกรรมการกรมการขนส่งทางบกกลางเมื่อปี 2555 ที่ประกาศใช้โครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันดีเซล เพื่อใช้พิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าโดยสาร โดยกำหนดว่าหากราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นถึง 1.12 บาท/ลิตร จะมีการปรับค่าโดยสารขึ้น 1 สตางค์/กิโลเมตร

นางสุจินดา กล่าวว่า ผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารไม่ได้ปรับอัตราค่าโดยสารมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันใช้ฐานราคาค่าโดยสารอิงจากราคาน้ำมัน 27.79 บาท ตั้งแต่ปี 2562 สมาคมฯ จึงเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อขอปรับอัตราค่าโดยสารอิงตามราคาน้ำมันปัจจุบัน ณ 11 พฤษภาคม 2565 ราคาอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นทุกวันหลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกตรึงราคคาน้ำมันดีเซล ด้วยเหตุนี้สมาคมฯ จึงขอปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นกิโลเมตรละ 1 สตางค์ต่อน้ำมันขึ้น 1 บาทต่อ 1 ลิตร ดังนั้นจากฐานราคา 27.79 บาท เทียบกับราคาปัจจุบันต่างกันราว 5 บาท ส่งผลให้อัตราค่าโดยสารควรจะได้ปรับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 สตางค์ต่อลิตร

นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังต้องการให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ อาทิ ค่าาธรรมเนียมเที่ยววิ่ง (ค่าขา) และค่าธรรมเนียมประเภทอื่นที่ต้องจ่ายให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการแบกต้นทุนน้ำมันที่สูงคิดเป็น 60% ของค่าโดยสารแล้ว อีกทั้งยังมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางลดลง ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการ

“ตอนนี้ก็ขอดูเหตุและผลก่อน ภาครัฐต้องมีเหตุและผลเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ เพราะคนที่มีรายได้น้อยใช้รถโดยสาร จะใช้งานยังไง หากว่าผู้ประกอบการล้มหายตายจากกันไปหมด ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวและอาจเป็นผลกระทบต่อประชาชนนั้น ตนเชื่อว่าถึงเวลาที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือ หามาตรการมาช่วย เพื่อให้ทุกทางออกมันสำเร็จได้”นางสุจินดา กล่าว   

ด้านนายพิเชษฐ์ กล่าวว่า อัตราค่าโดยสารที่กรมการขนส่งทางบกประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน (ประกาศตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.62) คือ 53 สตางค์/กิโลเมตร/คน ซึ่งราคาน้ำมันดีเซล ณ วันที่ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ลิตรละ 27.79 บาท ขณะที่ ณ วันนี้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 31.94 บาท ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเเตะถึง 40 บาท/ลิตรในไม่ช้านี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทาง แบกรับภาระต้นทุนที่สูงเกินจริงมาอย่างต่อเนื่องจึงขอเพียงให้ใช้ประกาศโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลดังกล่าวก่อนผู้ประกอบการจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เนื่องจากไม่ได้มีการนำประกาศดังกล่าวมาใช้ในโครงสร้างค่าโดยสารอย่างจริงจัง

หากรัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือใดๆ คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลอาจจะพุ่งทะยานไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับโครงสร้างขั้นบรรไดของอัตราค่าโดยสารที่กรมการขนส่งทางบกประกาศไว้ เมื่อน้ำมันดีเซลปรับขึ้นลิตรละ 1.12 บาท จะต้องปรับอัตรค่าโดยสาร ขึ้น 1 สตางค์/กิโลเมตร นั่นหมายความว่ากรมการขนส่งทางบก โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ต้องพิจารณาใช้ตารางอัตราค่าโดยสารขึ้นอีกประมาณ 10-15 สตางค์/กิโลเมตร การมายื่นข้อเสนอครั้งนี้ ยืนยันไม่ใช่การเรียกร้องให้มีการปรับค่าโดยสารแต่อย่างใดเพียงขอให้กรมการขนส่งทางบก ใช้อัตราค่าโดยสารตามโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลตามที่เคยประกาศไว้เท่านั้น โดยให้ข้อมูลด้วยว่าตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 15 ปี เทียบเคียงอัตราค่าโดยสารค่าโดยสารโดยรวมแล้วกลับลดลง 1 สตางค์/กิโลเมตร ทั้งๆ ที่องค์ประกอบต่างๆของต้นทุนในการเดินรถมีการปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอดมา