ผู้ชมทั้งหมด 46
นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club ร่วมเสวนาในกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่จัดขึ้น ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน หัวข้อ “ASEAN Common Carbon Framework” และ “From Zero to Carbon Hero: Unlocking the Power of Tech Powered Carbon Credits” บน 2 เวทีที่ Malaysia Pavilion
วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 หลังจากนางกลอยตาได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Collaboration – MoC) เพื่อสนับสนุนการพัฒนา “กรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน” (ASEAN Common Carbon Framework – AACF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวทางสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส ร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ ได้รับเชิญร่วมเสวนาใน 2 หัวข้อ โดยหัวข้อแรก “ASEAN Common Carbon Framework” ร่วมกับผู้ลงนามในข้อตกลงจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอาเซียน เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในระดับภูมิภาคภายใต้กรอบการทำงานร่วมกันของตลาดคาร์บอนอาเซียน ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศในอาเซียนในแง่ของการแบ่งปันองค์ความรู้และทรัพยากร และการเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของตลาดคาร์บอนในระดับภูมิภาค อันเป็นที่มาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้
สำหรับหัวข้อที่ 2 “From Zero to Carbon Hero: Unlocking the Power of Tech Powered Carbon Credits” ได้ร่วมเสวนากับผู้แทนหน่วยงานจากประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม กล่าวถึงแนวทางพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงในระดับภูมิภาค ผ่านการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญปูทางสู่อนาคตในการจัดการข้อมูล เพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยนางกลอยตาได้ยกตัวอย่างบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบ Peer-to-Peer ในโครงการ T77 ร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และโครงการ Smart University ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงโครงการคาร์บอนเครดิตจากพืชเกษตรยืนต้น “พรรณดี” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บางจากฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการเกษตรคาร์บอนต่ำ ปรับแผนการใช้ปุ๋ย และพัฒนาระบบดิจิทัลในการจัดการ-ติดตามข้อมูลของเกษตรกร เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน T-VER มุ่งมั่นสร้างความน่าเชื่อถือและความสามารถในการตรวจสอบคาร์บอนเครดิต
งานเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการทำงานร่วมกันในการพัฒนาความแข็งแกร่งและมาตรฐานของตลาดคาร์บอนอาเซียน สอดคล้องกับเป้าหมายของ Carbon Markets Club ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอันเป็นความท้าทายเร่งด่วนของโลก และสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อช่วยในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน