ผู้ชมทั้งหมด 687
ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ ปตท.สผ. ไฟเขียว ออกหุ้นกู้ 3,000 ล้านดอลลาร์ รองรับแผนลงทุน 5 ปี (ปี66-70) ใช้งบ 29,100 ล้านดอลลาร์ พร้อมอนุมัติจ่ายปันจ่ายส่วนที่เหลือของปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 5 บาท กำหนดจ่ายวันที่ 24 เม.ย.นี้ ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมปี66 อยู่ที่ 4.7 แสนบาร์เรลฯ ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) เฉลี่ยอยู่ที่ 27-28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของ ปตท.สผ. เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2566 โดยระบุว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ เห็นชอบให้ ปตท.สผ. และ/หรือ บริษัทย่อย ดำเนินการจัดหาเงินทุนเพื่อใช้ในการลงทุน และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป โดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้เป็นสกุลเงินบาท และ/หรือ สกุลเงินตราต่างประเทศเทียบเท่าในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านดอลลาร์ โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งจากแหล่งเงินทุนในประเทศ และ/หรือ แหล่งเงินทุนต่างประเทศ ซึ่งการกู้เงินโดยวิธีการดังกล่าวทั้งหมดจะกระทำในคราวเดียวหรือหลายคราวก็ได้แก่ประชาชนทั่วไป และ/หรือ บุคคลในวงจำกัด โดยให้ปตท.สผ. เป็นผู้ค้ำประกันได้ในกรณีที่บริษัทย่อยเป็นผู้กู้
“การออกหุ้นกู้ดังกล่าว เป็นการประมาณการณ์ใช้เงินตอบสนองต่อกลยุทธ์ของบริษัท และแผนการลงทุน 5 ปี(ปี66-70) ที่คาดว่าจะใช้เงิน 29,100 ล้านดอลลาร์ และตั้งสำรอง 4,800 ล้านดอลลาร์ รองรับธุรกิจใหม่ รวมถึงชำระคืนหนี้ 5 ปีด้วย เบื้องต้น อาจออกหุ้นกู้ผ่านแอพฯเป๋าตังค์”
อีกทั้ง ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ มีมติรับทราบการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และอนุมัติการจ่ายเงินปันผล ประจำปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 9.25 บาท หรือคิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 36,722 ล้านบาท ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรก ของปี 2565 ไปแล้วเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ในอัตราหุ้นละ 4.25 บาท (จากกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร ที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม) โดยจะจ่ายเงินปันผลส่วนที่เหลือของปี 2565 ในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายจากกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมทั้งจำนวน ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ ได้รับเงินปันผลตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 24 เมษายน 2566 โดยจะจ่ายเมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
สำหรับการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว เป็นผลมาจากผลประกอบการของบริษัท ในปี 2565 ปตท.สผ. และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 9,661 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา มีกำไรสุทธิ 1,999 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา มีสินทรัพย์รวม 25,168 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา หนี้สินรวม 11,653 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา ส่วนของผู้ถือหุ้น 13,515 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา กำไรสะสม ที่ยังไม่ได้จัดสรร 9,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา และเงินสดคงเหลือซึ่งรวมเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3,539 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จากผลประกอบการข้างต้น คณะกรรมการ ปตท.สผ. พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทสมควรจ่ายเงินปันผลในอัตราดังกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ รับทราบผลการดำเนินงานประจำปี 2565 และแผนงานประจำปี 2566 โดย ในปี 2565 ปตท.สผ. ได้ปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ มุ่งเน้นการดำเนินงาน 3 ด้าน (Pillar) ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะจะช่วยให้การลงทุนด้าน E&P แข็งแรงมากขึ้น โดยจะเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการในประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และเร่งรัดการพัฒนาโครงการหลัก ๆ ในต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง เพื่อให้มีต้นทุนที่ต่ำและสร้างมูลค่าเพิ่ม
2.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture & Storage หรือ CCS) โครงการปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท รวมถึง การดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) ผ่านโครงการปลูกป่าบก และป่าชายเลน ตลอดจนการดำเนินโครงการตามกลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูง
ปัจจุบัน มีอยู่ 2 โครงการที่ทำเรื่องของ “Decarbonize” คือ โครงการแหล่งอาทิตย์ ที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในการลงทุน CCS ประเมินว่า จะมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน ประมาณ 700,000-1,000,000 ตันต่อปี ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มใช้งานได้ในปี 2569
3.สร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้ง ธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับอนาคต โดยด้านเทคโนโลยี วันนี้ ปตท.สผ.ก็มีบริษัทลูก คือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ที่เริ่มเติบโต และปัจจุบัน ดำเนินธุรกิจใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้โดรนเพื่อสำรวจต่างๆ 2.หุ่นยนต์ใต้น้ำ เพื่อสำรวจท่อ 3.การนำโดรนมาประยุกต์ใช้สำรวจพื้นที่ป่าในการปลดปล่อยคาร์บอน และ4.เรื่องของบล็อกเชน ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ โดย ARV เริ่มมีรายได้ แม้ว่าผลประกอบการจะยังไม่เป็นบวก เพราะยังอยู่ในช่วงของการลงทุน
สำหรับทิศทางการลงทุนของ ปตท.สผ.ในปี 2566 ในประเทศไทย จะมุ่งมั่นเพิ่มการผลิตโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) เพื่อเร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ แตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน เม.ย.ปี2567 ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) โดยในเดือน ก.ค.นี้ จะเพิ่มกำลังผลิต แตะ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในเดือนธ.ค.นี้ จะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัท อยู่ระหว่างออกแบบงานวิศวกรรมโครงการลัง เลอบาห์ ในโครงการซาราวัก เอสเค 410บี นอกชายฝั่งประเทศมาเลเซีย หลังมีการค้นพบศักยภาพก๊าซฯ คาดว่า จะเริ่มผลิตก๊าซฯ ออกมาได้ภายในปี 2570 ตั้งเป้าผลิตรวม 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะป้อนเข้าโรงงานในมาเลเซีย เพื่อนำไปจัดทำเป็นก๊าซฯ LNG ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 บริษัท มีเป้าหมายรักษาต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) เฉลี่ยทั้งปีนี้ อยู่ที่ 27-28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งงบแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2566-2570) อยู่ที่ 29,100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,006,676 ล้านบาท และสำรองงบในการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ใน 5 ปีนี้อีก 4,800 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 166,052 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและพัฒนาธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture & Storage หรือ CCS) ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) และธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด
โดยปี 2566 ปตท.สผ.กำหนดงบลงทุนที่ 5,481 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 191,818 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนการเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเร่งกิจกรรมสำรวจ พัฒนาและผลิตเพิ่มเติมจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศไทย ซึ่งตั้งเป้าในปี 2566 ปตท.สผ.มีปริมาณการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลต่อวัน และมีอัตราการผลิตก๊าซฯเฉลี่ย 5 ปี เพิ่มขึ้น 6.3%