ผู้ชมทั้งหมด 548
ที่ประชุมผู้ถือหุ้น OR ไฟเขียวจ่ายปันผลช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อัตรา 0.27 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่ายวันที่ 29 เม.ย.2567 “ดิษทัต” ยัน นโยบายรัฐคุมราคาน้ำมันไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ชี้ได้รับค่าการตลาดในระดับที่เหมาะสม
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยในประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2567 ของOR โดยระบุว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาอนุมัติการจัดสรรกำไรสุทธิ เป็นทุนสำรองตามกฎหมาย และการจ่ายเงินปันผล สำหรับผลการดำเนินงานของปี 2566 ซึ่งบริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 11,094,066,725 บาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.92 บาท (ทั้งนี้ งบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทมีกำไรสุทธิปี 2566 จำนวน 8,622,785,684 บาท) จึงเห็นควรจัดสรรกำไรสุทธิเพื่อเป็นทุนสำรองตามกฎหมายของปี 2566 จำนวน 431,140,000 บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของกำไรสุทธิเฉพาะกิจการและเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้นที่อัตรา 0.52 บาทต่อหุ้น รวมจำนวน 6,240,000,000 บาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 56.2 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท โดยแบ่งเป็น
1) การจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทครึ่งแรกของปี 2566 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 – 30 มิถุนายน 2566) บริษัทขอรายงานเรื่องการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการตามข้อบังคับบริษัท ข้อ 56 ที่กำหนดว่า คณะกรรมการอาจจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เป็นครั้งคราว เมื่อเห็นว่า บริษัทมีผลกำไรสมควรพอจะทำเช่นนั้น และเมื่อได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้ว ให้รายงานการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมคราวต่อไป
ในการนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ได้มีมติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2566 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2566 – 30 มิถุนายน2566) ที่อัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น สำหรับหุ้นสามัญของบริษัท จำนวน 12,000,000,000 หุ้น รวมจำนวน 3,000,000,000 บาท และได้จ่ายเงินปันผลดังกล่าวให้กับผู้ถือหุ้นแล้ว เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566
2) การจ่ายเงินปันผจสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทครึ่งหลังของปี 2566 (ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 – 31 กันวาคม 2566 (หากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบให้จ่ายเงินปันผลที่อัตรา 0.27 บาทต่อหุ้น สำหรับหุ้นสามัญของบริษัทจำนวน 12,000,000,000 หุ้น รวมจำนวน 3,240,000,000 บาท มีกำหนดวันจ่ายเงินปันผลในวันที่ 29 เมษายน 2567 โดยจะจ่ายจากกำไรสะสมของบริษัทที่ยังไม่ได้จัดสรรในส่วนของกำไรสุทธิที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 20
ที่ประชุมฯ ยังรับทราบการรายงาน ผลการดำเนินงานรอบปี 2566 และพิจารณาอนุมัติงบการเงินประจำปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ดังนี้ ผลการดำเนินงานปี 2566 OR มีกำไรสุทธิ 11,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 724 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.0% จาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 598 ล้านบาท จากปริมาณขายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศในภูมิภาค รวมทั้งการกลับมาของภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากราคาจำหน่ายน้ำมันที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีระดับต่ำกว่า ส่งผลให้รายได้ขายและบริการลดลง 20,651 ล้านบาท สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงาน กลุ่มธุรกิจ Mobility ยังคงแข็งแกร่ง มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรเติบโตขึ้นเล็กน้อย แม้ว่ากลุ่มธุรกิจ Global มีกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรโดยรวมจะอ่อนตัวลงตามสภาวะตลาดก็ตาม นอกจากนั้นกลุ่มธุรกิจ lifestyle สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ OR มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.92 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 7.0%
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกจากตำแหน่งตามวาระ โดยเห็นชอบเลือกตั้งแทนกรรมการที่ครบวาระในปี 2567 ดังนี้
1. นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการอิสระ แทน นายรวิศ หาญอุตสาหะ
2. นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร ดำรงตำแหน่ง กรรมการอิสระ ต่ออีกวาระหนึ่ง
3. ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ดำรงตำแหน่ง กรรมการ ต่ออีกวาระหนึ่ง
4. นายเทอดเกียรติ พร้อมมูล ดำรงตำแหน่ง กรรมการ ต่ออีกวาระหนึ่ง
5. นายธวัชชัย ชีวานนท์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการอิสระ ต่ออีกวาระหนึ่ง
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางของแผนธุรกิจในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุนที่อนุมัติใหม่ ดังนี้
โดยตามงบประมาณแผนการใช้เงิน ปี 2564-2568 วงเงินลงทุนรวม 53,497 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Mobility วงเงิน 25,600 ล้านบาท
1.1 การขยายเครือข่ายสถานีบริการ รวมการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าและการบริหารพื้นที่
1.2 การขยายธุรกิจสำหรับการตลาพาณิชย์ รวมพลังงานทางเลือก
1.3 การขยายเครือข่ายคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าเพื่อธุรกิจ Mobility
2.การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ lifestyle วงเงิน 9,800 ล้านบาท
สำหรับการขยายเครือข่ายร้านค้าปลีก การลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ lifestyle ลูกค้า เช่น Health & Wellness, Beauty, Digital Platform เป็นต้น
3.การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Global วงเงิน 9,500 ล้านบาท
4.เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและ/หรือชำระคืนเงินกู้ยืม(ถ้ามี) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการของบริษัทฯและบริษัทย่อย วงเงิน 8,597 ล้านบาท
โดยการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจหลักของบริษัทแต่อย่างใด
ขณะที่การรายงานการใช้เงินเพิ่มทุนจนถึง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีรายละเอียดดังนี้
ตามงบประมาณแผนการใช้เงินปี 2564-2568 วงเงินลงทุนรวม 53,497 ล้านบาท พบว่า
1.การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Mobility วงเงิน 25,600 ล้านบาท จำนวนเงินที่ใช้ไปแล้ว 13,157 ล้านบาท
2.การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ lifestyle วงเงิน 9,800 ล้านบาท จำนวนเงินที่ใช้ไปแล้ว 3,719 ล้านบาท
3.การลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Global วงเงิน 9,500 ล้านบาท จำนวนเงินที่ใช้ไปแล้ว 2,631 ล้านบาท
4.เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและ/หรือชำระคืนเงินกู้ยืม(ถ้ามี) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกิจการของบริษัทฯและบริษัทย่อย วงเงิน 8,597 ล้านบาท จำนวนเงินที่ใช้ไปแล้ว 8,597 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนที่ใช้ไปแล้วอยู่ที่ 28,104 ล้านบาท คงเหลือ 25,393 ล้านบาท
นายดิษทัต กล่าวว่า นโยบายควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันของภาครัฐนั้น OR ถือเป็นหนึ่งในผู้ค้าน้ำมันตามมาตร 7(ม.7) ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐที่จะร่วมดูแลผลกระทบให้กับประชาชน ขณะเดียวกัน OR ก็มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน และธุรกิจค้าน้ำมันเป็นการซื้อมาขายไปซึ่งเป็นลักษณะการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้ซื้อ ฉะนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ OR และปัจจุบัน OR ได้รับค่าการตลาดในระดับที่เหมาะสม