ผู้ว่าการรฟท. คนใหม่เดินหน้าปลดหนี้ 2.3 แสนล้าน เร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดเอกชนเช่าราง

ผู้ชมทั้งหมด 98 

ผู้ว่าการรฟท. คนใหม่ เร่งเดินหน้าปลดหนี้ 2.3 แสนล้าน เล็งคุยก.คลัง ช่วยปลดหนี้  เร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย พร้อมเปิดเอกชนเช่าราง มั่นใจภายใน 4 ปีหนี้ลดได้

นายวีริศ อัมระปาล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนที่ 20 เปิดเผยภายหลังเข้ามารับตำแหน่งวันแรก (19 ก.ย.67) ว่า การรับตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. มีความพร้อมที่จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการรฟท. ทันที เนื่องจากตระหนักดีถึงความสำคัญของบทบาท และภารกิจของการรถไฟฯ ในฐานะองค์กรรัฐวิสาหกิจด้านการขนส่งที่ใหญ่สุดของประเทศ และสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือการแก้ปัญหาหนี้สะสมของการรถไฟฯ ที่มีหนี้กว่า 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้รฟท. อยู่ในช่วง Bottom line ที่มีทิศทางของการพื้นตัวที่ดีขึ้น ดังนั้นต้องเร่งลงทุนในโครงการต่างๆ ให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ร่วมถึงการแก้ไขหนี้ของรฟท. ซึ่งการแก้ไขหนี้ตนจะต้องศึกษาว่าภาระหนี้ที่แท้จริงของรฟท.มีอยู่จำนวนเท่าไหร่ และหนี้ที่เกิดจากการให้บริการเดินรถไฟเชิงสังคม (PSO) ที่ขอรับการสนับเกิดจากกระทรวงการคลังมีจำนวนเท่าไหร่

ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 4 ปีที่ตนมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท. ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดในการปลดหนี้หรือแก้ไขปัญหาหนี้ของรฟท. วันนี้ยังตอบไม่ได้เพราะยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะสามารถปลดหนี้ได้ภายใน 4 ปีหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็มีแนวทางของการปลดหนี้ว่าภายใน 4 ปีหนี้จะลดลงอย่างแน่นอน

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาหนี้ของรฟท. นั้นตนจะต้องเร่งศึกษารายละเอียดของปัญหาต่างๆ ในเรื่องของการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟ โดยการเพิ่มรายได้นั้นจะมุ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิยช์ของการรถไฟ เช่น พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (สถานีแม่น้ำ) จำนวน 260 ไร่ พื้นที่รอบสถานีรถไฟศาลายา-มหาวิทยาลัยมหิดล พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีธรรมศาสตร์ พัฒนาที่ดินตามแนวทางรถไฟ ยกระดับความเป็นของชุมชนรอบทางรถไฟ

พร้อมกันนี้รฟท.จะดำเนินการเปิดให้เอกชนมาเช่าระบบรางของรฟท. ในการขนส่งสินค้าก็จะเป็นการสร้างรายได้อีกแบบ ซึ่งก็ต้องไปศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร ในเบื้องต้นเท่าที่ทราบมีเอกชนหลายรายที่มีความพร้อมและต้องการเช่ารางของรฟท.ในการขนส่งสินค้า โดยรูปแบบการลงทุนอาจจะเป็นรูแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP และการเปิดให้เช่าใช้ระบบรางในระยะยาว

ขณะเดียวกันในส่วนพื้นที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง หรือ ไอซีดี จะต้องนำกลับมาทบทวนเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากเป็นอีกเรื่องที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรฟท. ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ ทั้งนี้การเพิ่มรายได้จากการให้บริการเดินรถนั้นจะต้องมีการบริการที่มีศักยภาพในการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า ซึ่งต้องเร่งจัดหาขบวนรถไฟมาเสริมเพิ่มเติม ตามแผนเดิมรฟท.อยู่ระหว่างจัดหาขบวนรถไฟจำนวน 184 คัน เพื่อนำมารองรับการวิ่งให้บริการประชาชนในโครงการรถไฟทางคู่ ทั้ง ระยะ1 และ ระยะ 2

นอกจากนี้ต้องเร่งดำเนินการขับเคลื่อนโครงการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานขนส่งรางให้สำเร็จตามแผนให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และรัฐบาล อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 4 โครงการ และระยะที่ 2 อีก 6 เส้นทาง โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็ต้องไปดูรายละเอียดสัญญาที่มีการต่อรองเรื่องการแก้ไขสัญญาโดยหลักๆ แล้วการต่อรองเป็นหน้าที่ของ EEC แต่สัญญาไหนที่เกี่ยวกับรฟท.ก็จะเข้าไปดำเนินการให้เกิดประโยชน์กับรฟท.ให้มากสุด

พร้อมกันนี้ตนจะให้ความสำคัญต่อการร่วมพบปะหารือกับพนักงานการรถไฟฯ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมรับฟังความคิดเห็นและนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกัน ตลอดจนดูแลด้านสวัสดิการต่าง ๆ ให้พนักงานการรถไฟฯ สร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อนำข้อมูล ทุกความคิดเห็นจากคนรถไฟ มาสานต่องานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด