ผถห. “PTTEP” ไฟเขียวจ่ายเงินปันผลงวด6ด.หลังปี67 อัตราหุ้นละ 5.125 บาท

ผู้ชมทั้งหมด 166 

ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น “ปตท.สผ.” อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับงวด 6 เดือนหลังของปี 2567 อัตราหุ้นละ 5.125 บาท กำหนดจ่าย 22 เม.ย.2568 “มนตรี” คาดกลางปี 2568 เตรียม FID โครงการCCS นำร่องแหล่งอาทิตย์ ยันเดินหน้าลงทุนแหล่งก๊าซฯ ยาดานา-ซอติก้า ในเมียนมาต่อ ชี้แผ่นดินไหวไม่กระทบโครงการฯ  

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) วันที่ 31 มีนาคม 2568 โดยระบุว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับงวด 6 เดือนหลังของปี 2567 ที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 5.125 บาท หรือเทียบเท่าอัตราหุ้นละประมาณ 0.1519 ดอลลาร์ฯ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ คิดเป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้นประมาณ 20,346 ล้านบาท โดยจะจ่ายจากกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อัตรา หุ้นละ 3.125 บาท และจ่ายจากกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรอัตรา หุ้นละ 2.00 บาทให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามรายชื่อที่ปราฏรายชื่อ ณ วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 (วัน XD ตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568) และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 22 เม.ย.2568

โดยการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว เป็นผลมาจากผลการดำเนินงานในปี 2567 ปตท.สผ.และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 9,273 ล้านดอลลาร์ฯ มีกำไรสุทธิ 2,227 ล้านดอลลาร์ฯ มีสินทรัพย์รวม 28,401 ล้านดอลลาร์ฯ หนี้สินรวม 12,634 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนของผู้ถือหุ้น 15,767 ล้านดอลลาร์ฯ กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 11,677 ล้านดอลลาร์ฯ และเงินสดคงเหลือ (ไม่รวมเงินลงทุนระยะสั้น) จำนวน 3,938 ล้านดอลลาร์ฯ

พร้อม รับทราบผลการดำเนินงานประจำปี 2567 และแผนงานประจำปี 2568 โดยผลประกอบการในปี 2567 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 327,415 ล้านบาท  (เทียบเท่า 9,273 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.)) โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 488,794 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 6%  เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มกำลังการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 46.78 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ ในปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 78,824 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,227 ล้านดอลลาร์ สรอ.) โดยกำไรสุทธิจากการดำเนินงานดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญที่บริษัทจะนำมาใช้ในการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมจากโครงการต่าง ๆ ตามแผนงานปี 2568 รองรับความต้องการการใช้พลังงานในประเทศต่อไป

ขณะที่ แผนการดำเนินงานของบริษัทในปี2568 ยังเดินหน้าการดำเนินงานตามแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2568 – 2572) ที่ได้จัดสรรไว้ โดยมีรายจ่ายรวม (Total Expenditure) 33,587 ล้านดอลลาร์ฯ แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 21,249 ล้านดอลลาร์ฯ และรายจ่ายดำเนินการ 12,338 ล้านดอลลาร์ฯ 

อีกทั้ง ยังได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (2568-2572) เพิ่มเติมจากงบประมาณข้างต้นอีกจำนวน 1,747 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate VentureCapital (CVC) ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมขององค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต

ขณะที่ปี 2568 ตั้งงบประมาณลงทุนรวม อยู่ที่ 7,819 ล้านดอลลาร์ฯ (261,940 ล้านบาท) ประกอบด้วยรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) จำนวน 5,299 ล้านดอลลาร์ฯ และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) จำนวน 2,520 ล้านดอลลาร์ฯ

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ภายใต้ โครงการ Arthit CCS (แหล่งอาทิตย์) ถือเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ โดยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) แล้ว คาดว่าจะสามารถลดการปล่อย CO2 ประมาณ 700,000–1,000,000 ตันต่อปี ปัจจุบัน โครงการอยู่ระหว่างตรวจสอบราคาประมูลค่าการก่องสร้างโครงการฯ คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID) ได้ช่วงกลางปี 2568

ส่วนโครงการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Eastern Thailand CCS Hub เป็นการศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี (Seaboard) เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการศึกษากฎระเบียบต่างๆ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการCCS ของ ปตท.สผ.จะต้องคุ้มค่าต่อการลงทุน

ส่วนกรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ศูนย์กลางอยู่บริเวณประเทศเมียนมานั้น ปตท.สผ. ยืนยันว่า แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติที่บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งในอ่าวไทย และอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา ยังสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการใช้พลังงานได้ตามปกติ และการผลิตก๊าซฯ ในเมียนมา ถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ที่ปัจจุบัน ไทยต้องนำเข้าก๊าซฯLNG ราว 40%ของความต้องการใช้ ผลิตในประเทศ ราว 60% นำเข้าจากเมียนมา ประมาณ 15% และที่เหลือนำเข้าจากแหล่ง JDA

ขณะเดียวกันการผลิตก๊าซฯในเมียนมา ทั้งจากแหล่งยาดานาและซอติก้า เป็นการส่งก๊าซฯ ป้อนให้กับเมียนมา คิดเป็น 50% ของความต้องการใช้ ซึ่งถือเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ดังนั้น ปตท.สผ. จะยังเดินหน้าขยายการลงทุนในแหล่งยาดานาและซอติก้า ต่อไปเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระประจำปี 2568 โดยมีกรรมการ ปตท.สผ.ที่จะครบวาระ จำนวน 5 คน และแต่งตั้งใหม่ ดังนี้

1.นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง

2.นายดนุชา พิชยนันท์ ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง

3.นายวุฒิกร สติฐิต ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่ง

4.พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เลือกตั้งใหม่ แทนนายวิรไท สันติประภพ

5.นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ เลือกตั้งใหม่ แทนนางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม