ผู้ชมทั้งหมด 2,775
เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานบอร์ด EV ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 1,434,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุกจะมีการผลิตทั้งสิ้น 34,000 คัน หรือให้มีกำลังการผลิตรถ ZEV อย่างน้อย 30% ของการผลิต ในปี 2573 (2030) ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคต
ขณะเดียวกันที่ประชุมยังมีการกำหนดเป้าหมายการใช้ในประเทศมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยแบ่งเป็นรูปแบบ Fast Change จำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่ายสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง อย่างไรก็ตามจากเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตในปี 2573 นั้นถือว่าเป็นความท้าทายของบอร์ดEV เลยทีเดียว เพราะการจะผลักดันให้ได้ตามเป้าหมายนั้นแปลว่าจะต้องได้รับความร่วมมือจากค่ายรถยนต์ เอกชนที่เป็นผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงการเตรียมความพร้อมของผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมันด้วย
ปัจจุบันบริษัทผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ก็ได้เริ่มปรับตัวและลงทุนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อรองรับการเปลี่ยนในอนาคตที่จะมีการใช้ยานยนต์ EV เพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันแต่ละค่ายก็มีการกำหนดแผนและเป้าหมายในการขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าภายในปั๊มน้ำมัน โดยหลายบริษัทจับมือกับพันธมิตรที่เป็นหน่วยงานภาครัฐอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงการร่วมลงทุนกับเอกชนด้วยกันเอง
โดยพี่ใหญ่แห่งวงการค่าปลีกน้ำมัน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งเป็น Flagship ของ กลุ่ม ปตท. ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกก็มีเป้าหมายขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในปั๊มน้ำมัน PTT Station เพิ่มอีก 100 แห่งในปี 2564 จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วกว่า 30 แห่ง ซึ่งเป็นการขยายภายใต้แบรนด์ของ OR เอง
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การลงทุนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าจะเน้นขยายทั่วประเทศบริเวณหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัดตั้งแต่ภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ ในรูปแบบชาร์จเร่งด่วน Quick Charge ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 20-25 นาทีต่อคัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อสาขา และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 300 สาขาภายในปี 2565 ทั้งในรูปแบบของหัวชาร์จปกติ Normal Charge และ Quick Charge เพื่อรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งได้มีการจัดทำ Application ‘EV Station’ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคอย่างครบวงจร
ขณะที่นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP กล่าวว่า บางจากได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA มีแผนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ภายในปั๊มบางจาก จำนวน 56 แห่งให้ได้ภายในไตรมาส 2/2564 โดยจะขยายบนถนนเส้นทางหลักทุกระยะ 100 กิโลเมตรและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และสิ้นปี 2564 บางจากตั้งเป้าจะขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 200 แห่ง และเป้าหมาย 3 ปีจะขยายให้ได้ 400-500 แห่งครอบคลุมทั่วทุกภาคและถนนเส้นหลักในประเทศไทย โดยคิดอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าในช่วงกลางคืนที่ 4 บาทต่อหน่วย และกลางวันที่ 7 บาทต่อหน่วย
ส่วนบริษัท บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จํากัด (มหาชน) หรือ PTG ผู้ให้บริษัทการปั๊มน้ำมัน PT ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ของกฟผ. โดยนายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTG ได้ตั้งเป้าหมายในปีนี้จะขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ภายในปั๊มน้ำมันจำนวน 30-40 แห่ง โดยจะติดตั้งบนถนนเส้นทางหลักทุกระยะทาง 150-200 กิโลเมตร และตั้งเป้าหมายในปี 2565 ขยายเพิ่มเป็น 120 แห่ง
ด้านนายชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO ผู้ให้บริการปั๊มน้ำมัน SUSCO กล่าวว่า เพื่อรองรับการเติบโตของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต บริษัทได้ร่วมมือกับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในการขยายสถานีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ EA Anywhere โดยในปัจจุบันขยายไปแล้ว 20 แห่งในปั๊มน้ำมันจากเป้าหมายขยาย 50 แห่งในปีนี้
ขณะที่หัวจ่ายไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าในปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันจะเน้นติดตั้งในรูปแบบ DC Quick Charge ที่สามารถชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าได้ภายใน 30 นาที ส่วนหัวจ่ายไฟฟ้ารูปแบบ AC Normal Charge จะใช้เวลาในการชาร์จ 3-4 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะนิยมติดตั้งตามสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เป็นต้น และอีกรูปแบบหนึ่งที่เริ่มเห็น คือ DC Fast Charge ขนาดแท่นชาร์จ 120 กิโลวัตต์ใช้เวลาในการชาร์จประมาณ 15 – 30 นาที ส่วนอัตราค่าชาร์จไฟฟ้าคาดว่าจะเฉลี่ยในระดับ 6-8 บาทต่อหน่วย ซึ่งขึ้นอยู่กับต้นทุนเทคโนโลยีหัวชาร์จ และค่าเช่าที่