ผู้ชมทั้งหมด 1,291
ขณะนี้ “โลก” และ “ประเทศไทย” กำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รัฐบาลไทย ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้เข้าร่วมประกาศในการประชุมผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 พร้อมกำหนดลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 – 2070 โดยหนึ่งในแนวทางดังกล่าว คือ การผลักดันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแตะ 50% ใน 20 ปี ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022)
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดของประเทศ โดยข้อมูลล่าสุด ณ 30 เม.ย.2565 กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม อยู่ที่ 15,520.32 เมกะวัตต์ หรือ คิดเป็นสัดส่วน 33.16% จากกำลังผลิตในระบบไฟฟ้า รวมอยู่ที่ 46,803.37 เมกะวัตต์
กฟผ.ประกาศตัวชัดเจนขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมลดปัญหาโลกร้อน โดยได้กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายของ กฟผ. เพื่อมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050(ปี พ.ศ.2593) ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ
บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระบุว่ากฟผ.ได้กำหนดกลยุทธ์ “Triple S” เพื่อมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality โดยกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2036 อีกทั้ง กฟผ. ยังได้วางแนวทางการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม นอกจากนี้ยังเตรียมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2044 โดยตั้งเป้าผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี ค.ศ. 2050
“เดิมตามแผน PDP กฟผ.ได้รับอนุมัติผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันถือว่าน้อยเกินไป กฟผ.จึงเสนอขอทำมากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ อีกทั้ง เทคโนโลยีโซลาร์ฯในอนาคตจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและแนวโน้มราคาถูกลงด้วย”
ทั้งนี้ กฟผ. เตรียมเดินหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro-floating Solar Hybrid) โครงการที่ 2 (เขื่อนอุบลรัตน์) จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ และพื้นที่เขื่อนอื่น ๆ ของ กฟผ. อีก 15 โครงการทั่วประเทศ รวม 2,725 เมกะวัตต์ เพื่อเร่งผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืน
หลังจากโครงการที่ 1 (นำร่องเขื่อนสิรินธร) “โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด” ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 พบว่า การผลิตไฟฟ้าในรูปแบบไฮบริดสามารถสร้างเสถียรภาพและลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี จากการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมพบว่า การติดตั้งทุ่นลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำของโครงการฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ใต้น้ำและสิ่งแวดล้อม
ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า กฟผ. ได้เปิดขายเอกสารประกวดราคาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าในรูปแบบไฮบริดจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำจากเขื่อน พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน BESS (Battery Energy Storage System) เพื่อเสริมการผลิตไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถซื้อเอกสารประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. – 15 ก.พ.2565 และมีกำหนดเปิดซองประกวดราคาวันที่ 9 มี.ค. 2565 กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ปี 2566
สำหรับการเปิดซองประกวดราคางานโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ พบว่า มีผู้ยื่นซองประกวดราคา ทั้งหมด 6 ราย จากผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาจำนวน 39 ราย โดยขั้นตอนหลังจากนี้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคางานดังกล่าว จะได้ดำเนินการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคต่อไป
ปัจจุบัน โครงการดังกล่าวฯ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค และตามแผนจะประกาศผลผู้ชนะ ประมาณเดือน ก.ย. 2565
กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มองว่า ตามนโยบาย 4 D เพื่อไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตไฟฟ้า (DECARBONIZATION) ที่ทางกระทรวงพลังงานได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็น 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม ตามแผน PDP 2022 โดยตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 4,500 เมกะวัตต์ ใน 20 ปีนั้น ในส่วนนี้ จะมาจากโซลาร์ลอยน้ำ 9 เขื่อน 16 โครงการ ของ กฟผ. ประมาณ 1,000-2,700 เมกะวัตต์ ,โซลาร์รูฟท็อป 200 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ฟาร์ม 3,300 เมกะวัตต์, พลังงานลม เพิ่มจาก 300 เป็น 1,500 เมกะวัตต์, ขยะชุมชน และขยะอุตสาหกรรม จะเพิ่มเป็น 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชุมชน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งมีโครงการนำร่องแล้ว 150 เมกะวัตต์ รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ในเขื่อนของ กฟผ. ถือเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ที่จะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี ดังนั้น ถือว่าตอบโจทย์การมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ผ่านกลไกการสนับสนุนการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม