ผู้ชมทั้งหมด 45
“ปลัดกระทรวงพลังงาน” คาดปี 2568 จ่อเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบใหม่ (ฝั่งอันดามัน) ลุ้นร่างแผน PDP 2024 มีความชัดเจน ขณะที่เบรกสัญญาขุดถ่านหินแม่เมาะ คาดกระทบค่าไฟฟ้า 8สตางค์ต่อหน่วย
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า แผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2568 เบื้องต้น ในช่วงไตรมาส 1 คาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการเปิดให้ผู้สนใจยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบ 26) ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน หลังจากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการปิโตรเลียมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีหลายบริษัทที่ให้ความสนใจเข้าร่วม เช่น โททาล และปตท.สผ. เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พื้นที่แปลงสำรวจฯ ที่จะเปิดในรอบนี้ เคยให้สัมปทานไปแล้ว แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำลึก คาดว่าไม่คุ้มค่ากับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว จึงคาดว่าการเปิดประมูลจะมีความน่าสนใจเพราะแหล่งอันดามันถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาปิโตรเลียม เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งยาดานา และเยตากุน ของเมียนมา
ขณะที่ การจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวน โดย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบเพื่อจัดทำให้รอบคอบต่อไป ทั้งเรื่องต้นทุน เชื้อเพลิง ,สำรองไฟฟ้า ,พลังงานทดแทน การดำเนินการตามแผนลดภาวะโลกร้อน ในอนาคต โดยในส่วนของสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เกิดในช่วงกลางคืน ทำให้ปริมาณสำรองช่วงกลางคืนประมาณ 30% และตัดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ออกไป และตามแผนพีดีพีพบว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะปรับลดลง เพราะไม่มีโรงไฟฟ้าใหญ่ ๆ เข้ามา ซึ่งสำรองไฟฟ้าปี 2569- 2570 จะลดลง และถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาตั้งแต่ปี 2570 จะยิ่งทำให้สำรองไฟฟ้าลดลงมาก ขณะที่แผนพีดีพีใหม่ได้เป็นจากระบบสำรองไฟฟ้าเป็น LOLE เพื่อดูความมั่นคง คาดว่า แผน PDP ฉบับใหม่จะมีความชัดเจนภายในปี 2568
ส่วนการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนโดยตรง (Direct PPA) โครงการนำร่อง 2,000 เมกะวัตต์ ได้ดูบรรจุในพีดีพี 2024 ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้จัดทำเงื่อนไข
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานของ กฟผ. คาดว่า ในไตรมาส 1 จะมีความคืบหน้าเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สัญญาที่ 8/1 ด้วยวิธีพิเศษ เพราะ กฟผ.เร่งรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามที่ จากกรณีนายพีระพันธุ์ มีหนังสือสั่งการให้ตรวจสอบและให้ กฟผ. ระงับการดำเนินการใด ๆ ชั่วคราว ในขณะที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ยื่นอุทธรณ์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา กฟผ. ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน หลังจากนั้นนำเสนอเข้าพิจารณาในบอร์ด กฟผ. ต่อไป
ปัจจุบันสัญญาถ่านหินที่ 8/1 กำลังจะสิ้นสุดลง สัญญาที่ 9 ล่าช้าออกไป ทำให้ปริมาณการผลิตถ่านหินได้ไม่เพียงพอป้อนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะหายไป 600-800 เมกะวัตต์ จึงจำเป็นต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซฯทดแทน และต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่ารวม 1,380 ล้านบาท คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า 8 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กฟผ. มีกระแสเงินสด 5-6 หมื่นล้านบาท สามารถบริหารจัดการได้ แต่หากมีปัญหาสภาพคล่อง ก็จะทำให้การส่งเงินเข้ารัฐล่าช้าออกไป ปัจจุบันหนี้คงค้างค่าไฟฟ้าเหลืออยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 68 แผนลงทุนของ กฟผ. จะลงทุนระบบส่งไฟฟ้า และโซลาร์ฯลอยน้ำ