ผู้ชมทั้งหมด 588
ประธานบอร์ด AOT สั่งเร่งศึกษาสร้างคอมมูนิตี้ มอลล์ ในสนามบินสุวรรณภูมิ หวังช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจ Non – Aero เป็น 50% หนุนรายได้เติบโตในระยะยาว
พลตำรวจเอกวิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ AOT ไปจัดทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในที่ดินแปลง 37 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้เป็นศูนย์บริการ และสนับสนุนกิจการเพื่อเป็นพื้นที่รองรับการเติบโตของธุรกิจการบินและการขนส่งทางอากาศ เพื่อทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลายเป็นศูนย์กลางหลักในการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค (Aviation Hub) คาดว่าจะใช้เวลาการศึกษาประมาณ 1 ปี น่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นน่าจะใช้เวลา 1-2 ปีน่าจะเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน
โดยเบื้องต้นให้โจทย์ว่า การศึกษาดังกล่าวควรเป็นในรูปแบบคอมมูนิตี้ มอลล์ ประกอบด้วย โรงแรม ศูนย์การค้า เอาท์เล็ต หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะเติบมากขึ้นในอนาคต ส่วนของโรงแรมนั้นอาจเปิดให้เช่าในรูปแบบใหม่ที่คิดค่าเช่าเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเชคเอาท์ออกจากโรงแรมใจกลางเมืองในช่วงเวลาเที่ยงได้มาพักคอยก่อนที่จะต้องไปขึ้นเครื่องในเวลาประมาณเที่ยงคืน หรือช่วงตี 2 หรือตี 3 เพราะหากไม่มีสถานที่พักคอยก็ต้องเดินทางเข้ามาภายในสนามบินเพื่อมารอเป็นเวลาค่อนข้างนาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการให้บริการภายในสนามบินที่ช้า แต่เป็นเพราะผู้โดยสารไม่มีที่ไปจึงต้องเดินทางมายังสนามบินหลังเชคเอาท์ออกจากโรงแรม รวมถึงคอมมูนิตี้ดังกล่าว อาจมีจุดเชคอินตั๋วโดยสารและกระเป๋าเดินทางได้ด้วย โดยไม่ต้องกังวลการฝากกระเป๋า และเมื่อถึงเวลาก็สามารถไปสนามบินเพื่อขึ้นเครื่องได้ทันที
พลตำรวจเอกวิสนุ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ที่จะนำมาดำเนินการสร้างคอมมูนิตี้ มอลล์นั้นขึ้นอยู่กับผลการศึกษาว่าพื้นที่แปลงใดมีความเหมาะสมมากที่สุด แต่ก็ควรต้องอยู่ติดกับสนามบิน โดยผลการศึกษาจะต้องเลือกโมเดลที่ดีที่สุด ง่าย เหมาะสม ที่เป็นแฮปปี้โมเดล คือ AOT มีรายได้ ผู้โดยสารได้ประโยชน์ และคู่ค้าอยู่ได้ ส่วนการจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลก่อสร้างและดำเนินงานหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องดูผลการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินการที่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในส่วนของผลการศึกษาแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เดิมของ AOT นั้น จะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้ง หากผลการศึกษาใดดีก็จะนำมาดำเนินการให้เกิดประโยชน์
อย่างไรก็ตามตนได้ตั้งเป้าปรับสัดส่วนรายได้ระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน (Aero) กับธุรกิจนอกเหนือการบิน (Non – Aero) ให้อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 50 เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะกลับมาอยู่ในระดับ 70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่การจับจ่ายใช่สอยของผู้โดยสารยังไม่กลับมาเท่าเดิม เนื่องจากปริมาณของผู้โดยสารชาวจีนที่มีความนิยมในการใช้จ่ายค่อนข้างมากยังไม่กลับมาตามสัดส่วนที่ตั้งไว้ ดังนั้น AOT จึงต้องเตรียมความพร้อมรับความแปรผันตามจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างกะทันหันด้วย โดยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจนอกเหนือการบินให้มากขึ้น เพราะสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน