ปตท.เร่งเครื่อง “ธุรกิจใหม่” สู่เป้าหมาย Net Zero ปี 2593 เตรียมทยอยรับรู้รายได้ธุรกิจEV สิ้นปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 911 

Powering life with future energy and beyond” หรือ การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน คือ วิสัยทัศน์ของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ภายใต้การขับเคลื่อนองค์กรของหัวเรือใหญ่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ( CEO ปตท.) โดยหนึ่งในเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจระยะยาวของ ปตท. คือ การมองหา New Growth ด้วยการเพิ่มสัดส่วนกำไรของธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจอื่นให้มากกว่า 30% ในปี 2573  

ปตท.จึงมีกลยุทธ์ธุรกิจสำคัญ 2 กลุ่มหลัก คือ Future Energy ประกอบด้วย 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1. พลังงานหมุนเวียน 2. ระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) 3. ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ 4. ไฮโดรเจน

ส่วน Beyond ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม คือ 1. Life Science 2. Mobility & Lifestyles 3. High Value Business 4. Logistics & Infrastructure และ 5. AI, Robotics & Digitization ซึ่งมองว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นอนาคตของประเทศ

โดยในส่วนของความคืบหน้าการลงทุนธุรกิจใหม่ ได้แก่ 1.ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน จะเน้นการลงทุนผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ได้จับมือกับกลุ่ม Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ผ่านกองทุน  CI NMF I Cooperatief U.A. (CI NMF I) ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท วินด์ เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อศึกษา โอกาสการลงทุนในพลังงานลม โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายในประเทศ 

ขณะเดียวกัน ปตท. และ GPSC ได้ขยายการลงทุนผ่านบริษัทโกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จ ากัด (GRP) (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น ทางอ้อม 50% และ GPSC ถือหุ้น 50%) เพื่อจัดตั้งบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จีน (เซี่ยงไฮ้) จำกัด (GRP China) โดย GRP ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,340,000 หยวน (หรือประมาณ 27,768,000 บาท) เพื่อสนับสนุนการลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน โดยการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ของกลุ่ม ปตท.

2. ธุรกิจแบตเตอรี่ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทปตท. ยังมีมติอนุมัติขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในบริษัท Avaada Energy Private Limited (AEPL) ในอินเดีย ให้ครอบคลุมธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) และ อนุมัติการชำระหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 42.93% ใน AEPL ซึ่งเป็นการลงทุนผ่านบริษัท  โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) (บริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น 100%) มูลค่ารวม ประมาณ 19,167 ล้านรูปีอินเดีย หรือประมาณ 8,625 ล้านบาท ทั้งนี้ จะทยอยชำระเงินเพิ่มทุนตาม ความจำเป็น โดยได้ชำระเงินเพิ่มทุนครั้งแรกจำนวน 8,649 ล้านรูปีอินเดีย หรือเทียบเท่าประมาณ 3,892 ล้านบาท แล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566

อีกทั้ง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) บริษัทร่วมทุนระหว่าง อรุณ พลัส และ GPSC ยังบรรลุข้อตกลงร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (Gotion) บริษัทในกลุ่มของ Gotion High-tech Co., Ltd. (บ.ชั้นนำของจีนด้านแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 600 ล้านบาท ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2568

3.ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (EV Value Chain)  มีบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100%) ปัจจุบันบรรลุข้อตกลง กับ Contemporary Amperex Technology Co., Ltd (CATL)ร่วมจัดตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ในประเทศไทย ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูงที่นำเซลล์แบตเตอรี่มาประกอบกันเป็นแพ็กโดยตรงไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกอบเป็นโมดูลทำให้แบตเตอรี่ มีประสิทธิภาพความจุพลังงานเพิ่มขึ้น มีน้ำหนักเบาและความปลอดภัยสูง พร้อมเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อเสริมศักยภาพด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวจะพร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

นอกจากนี้ บริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด (HORIZON PLUS) ที่เกิดจากการผสานความร่วมมือระหว่าง ARUN PLUS ผู้นำด้านระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร หนึ่งในกลุ่มธุรกิจใหม่ของ ปตท. กับ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (FOXCONN) ผู้นำเทคโนโลยีนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก โดยHorizon Plus ร่วมทุน 60% กับ Foxconn 40% ทำธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งได้จัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าบนพื้นที่ 313 ไร่ ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ อําเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี โดยบริษัทใช้เงินลงทุนกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำลังการผลิตเริ่มต้น 50,000 คันต่อปี และจะขยายเป็น 150,000 คันต่อปี ในปี 2573 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จสามารถเริ่มการผลิตและส่งมอบรถอีวี ได้ในปี 2567

และ EVME Plus ซึ่งเป็นบริษัทที่ อรุณ พลัส ถือหุ้น 100% ยังให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ให้เช่า บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น ปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

รวมถึง อรุณ พลัส ยังจับมือบริษัท Kwang Yang Motor Co., Ltd. (KYMCO) และบริษัท KYMCO CAPITAL PRIVATE EQUITY MANAGEMENT Co., Ltd. (KC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KYMCO ร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในนามบริษัท เอไอออเนกซ์ จำกัด (Aionex) เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและผลิตรถไฟฟ้า 2 ล้อ รวมถึงให้บริการสลับเแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า 2 ล้อ โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 600 ล้านบาท โดย Arun Plus จะถือหุ้นสัดส่วน 51% ส่วน KYMCO ถือหุ้น 29% และ KC ถือหุ้น 20% ซึ่งหลังจากจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเสร็จ จะเริ่มนำเข้าอุปกรณ์มาประกอบรถในประเทศและทำการขายในประเทศไทย คาดว่า ปีนี้ยอดขายคงไม่มากนัก และปีหน้าจะรับรู้รายได้จากยอดขายเต็มปีเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ธุรกิจอีวีปีนี้ ยังเป็นการลงทุนอยู่ จะสร้างรายได้กลับเข้ามาต้องรอโรงงานเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ก่อน แต่โครงการจะเริ่มทยอยเห็นรายได้เข้ามา เช่น ปีนี้ โรงงานแบตเตอรี่ ที่จะCODปีนี้ ปีหน้าจะเริ่มมีรถEV 4 ล้อเข้ามา และปีนี้จะมีรถอีวี 2 ล้อจัดจำหน่ายก็จะเริ่มรับรู้รายได้สิ้นปีนี้เป็นต้นไป

และ 4.ธุรกิจไฮโดรเจน ร่วมกับแอควา พาวเวอร์ (ACWA Power) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานทดแทนชั้นนำจากซาอุดีอาระเบีย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในเดือนพ.ย.2566 ทุ่มเม็ดเงิน 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ((Green Hydrogen)คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการ ปตท.(บอร์ด ปตท.) คร้ังที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2566 ได้ทบทวนแผนการลงทุนของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% และอนุมัติให้ปรับแผนการลงทุนสำหรับปี 2566 จาก 33,344 ล้านบาท เป็น 93,598 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อาทิ เงินลงทุนสำหรับรองรับการร่วมลงทุนของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในโครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 และการร่วมลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โดยหลักจากโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยของบริษัท อรุณ พลัส จำกัด

ขณะที่การลงทุนในโครงการอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจหลัก (Core Business) ของ ปตท. เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศยังคงเป็นไปตามแผนการลงทุนเดิม อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ที่รุกเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ยังเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ที่ตั้งไว้ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) อีกด้วย