ผู้ชมทั้งหมด 509
กระแส Disruptive Technology หรือ เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องเอาตัวรอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนไป จึงไม่แปลกที่ในช่วงหลายปีมานี้ จะเห็นการล้มหายตายจากและการเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่อย่างรวดเร็ว
“รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV (Electric Vehicle) ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ ที่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้รถในหลายประเทศทั่วโลก เพราะเป็นนวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีจุดเด่นในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนน้ำมัน โดยระบบรถไฟฟ้าจะเก็บพลังงานเอาไว้ในแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟได้ และในปัจจุบันนี้ คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักยานยนต์ไฟฟ้า
บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT บริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่จัดหาพลังงานเพื่อความมั่นคงของไทย เห็นความสำคัญของกระแส Disruptive Technology จึงแตกไลน์ธุรกิจ เข้าสู่การแสวงหาธุรกิจใหม่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ ที่กลุ่ม ปตท.เข้าไปลงทุนทั้งการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนา EV Charging Platform และ EV Station รวมถึงการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และในอนาคต กลุ่ม ปตท.จะบุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงาน พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ และกลายเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในอาเซียน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว กลุ่ม ปตท. ได้วางกลยุทธ์ New S-Curve โดยเข้าไปลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (EV Value Chain) ผ่านการจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% สำหรับดำเนินธุรกิจในด้าน EV Value Chain เพื่อเป็นการรองรับการขยายฐานธุรกิจด้าน EV
อรุณ พลัส กลายเป็นบริษัทแกนนำนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ของกลุ่ม ปตท. ที่ปัจจุบันได้แตกกิ่งก้าน ขยายเข้าไปลงทุนในหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจEV ทั้งส่วนของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (4WD) โดย อรุณ พลัส และ บริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin International Investment) บริษัทในกลุ่มของบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ได้ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด หรือ HORIZON PLUS โดยมีสัดส่วนการลงทุนของอรุณ พลัส 60% และ หลินยิ่ง 40% เพื่อร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ในประเทศไทย
โดย HORIZON PLUS ได้ก่อตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย มีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตที่ 50,000 คันต่อปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คันต่อปี ภายในปี 2573 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อรุณพลัส ยังจัดตั้งบริษัท เอ็กซ์ โมบิลิตี้ พลัส จำกัด (“‘X Mobility Plus”) ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยถือหุ้น 100% ผ่านบริษัท นี โอ โมบิลิตี้ เอเชีย จำกัด (“Nco Mobility Asia”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง กลุ่มบริษัทอรุณ พลัส และ กลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) (MGC-ASIA) เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในประเทศไทย เช่น บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า บริการประกันภัย บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อรีไฟแนนซ์และการเงินอย่างครบวงจร บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า บริการหลังการขาย ศูนย์เช็คระยะ เปลี่ยนอะไหล่ ตลอดจนซ่อมสีและตัวถัง เป็นต้น โดยได้เปิดตัวรถแล้ว 2 แบรนด์( แบรนด์ XPENG (เอ็กซ์เผิง) และ ZEEKR (ซีคเกอร์))ในงานมอเตอร์โชว์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเริ่มส่งมอบรถในปีนี้ ส่วนตัวโรงงานอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้า คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568
กลุ่มปตท. ยังลงทุนผ่าน บริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (Nuovo Plus) และ บริษัท โกชั่น ไฮเทค จำกัด (Gotion) ในสัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และพร้อมขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีในอนาคต
นอกจากนี้ อรุณพลัส ยังจัดตั้งบริษัท เอ ซี เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด (“A C Energy Solution”) ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1,851 ล้านบาท โดย อรุณ พลัส ถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยี Cell-To-Pack (CTP) เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
อีกทั้ง มีการจัดตั้ง บริษัท เอไอออเนกซ์ จำกัด (Aionex) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทางอ้อม 100%) กับ บริษัท Kwang Yang Motor Co., Ltd. (KYMCO) และบริษัท KYMCO CAPITAL PRIVATE EQUITY MANAGEMENT Co., Ltd. (KC) (บริษัทย่อย ที่ KYMCO ถือหุ้น) เพื่อดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายและผลิตรถไฟฟ้า 2 ล้อ รวมถึงให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า 2 ล้อนั้น ธุรกิจดังกล่าวมีแผนจะเริ่มส่งมอบภายในปีนี้ รวมถึงมีแผนที่จะจ้างOEM ในไทย เพื่อทำการผลิตและประกอบรถภายใน 3-5 ปี และในอนาคตจะพิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานผลิตเอง
อรุณพลัส ยังเปิดให้บริการสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion EV Charging Station) เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ
ขณะเดียวกัน อรุณพลัส มีการจัดตั้งบริษัท อีวีมีพลัส จำกัด (EVME PLUS) ซึ่งถือหุ้น 100% ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ผ่านแอปพลิเคชัน อีวี มี (EVme) เพื่อส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย อาทิ บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้า บริการข้อมูลเกี่ยวกับ สถานีอัดประจุไฟฟ้าและสถานีซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า
ปตท. ประเมินว่า ความต้องการใช้รถEV ยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงจากการผลิตรถของฝั่งจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีความได้เปรียบจากต้นทุนและภาษี เข้ามาแข่งขันด้านราคากับผู้เล่นรายอื่นๆ รวมถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจของโลก และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ ปตท.จะต้องกลับมาทบทวนกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดร.ครกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT มองว่า โลกเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว องค์กรจึงต้องปรับตัวเร็ว และต้อง Revisit ทั้งธุรกิจ Hydrocarbon และ ธุรกิจ Non-Hydrocarbon เช่น จีนที่มีปัญหาสภาวะเศรษฐกิจและมีการปรับกลยุทธ์การลงทุนที่เดิมการก่อสร้างโรงงานเคยใช้เวลา 5 ปี และปัจจุบันเหลือ 3-4 ปี ก็จะทำให้มีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดปริมาณมาก จึงต้องทบทวนผลกระทบเหล่านี้ที่เป็นปัจจัยจากภายนอกประเทศ เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจใหม่ อย่าง EV ซึ่งมี Value Chain ที่เกี่ยวข้องในหลายมิติ ก็ต้องพิจารณาให้ครอบคลุม
ดังนั้น ปตท.เตรียมทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจตามแผนลงทุน 5 ปีใหม่(2568-2572) ภายในเดือน ส.ค.นี้ และจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ปตท.(บอร์ด ปตท.) อนุมัติต่อไป คาดว่า จะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค.นี้ ทั้งวงเงินลงทุน ธุรกิจที่จะเร่งเดินหน้าต่อ และธุรกิจที่จะอาจปรับลดขนาด หรือถอยการลงทุนลง เป็นต้น โดยปตท.จะดำเนินการอย่างระมัดระวัง และเชื่อว่าจะเป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนหลังเห็นแผนการลงทุนที่ชัดเจนออกมาในอนาคต
ทั้งนี้ การปรับกลยุทธ์ธุรกิจของ ปตท.ในครั้งนี้ จะอยู่ภายใต้ วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” โดยมุ่งให้ ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล บริหารองค์กรด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลที่ดีมีธรรมาภิบาล
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. เชื่อมั่นใจว่า การขับเคลื่อนธุรกิจ EV Value Chain จะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถรักษาจุดยืนความเป็นผู้นำของฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาค ตอบสนองแนวทางของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ออกมาตรการผลักดันเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 30% ในปี 2573 รวมถึงการการสนับสนุนเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดตามแผนพลังงานชาติในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วน Renewable Energy ไม่น้อยกว่า 50% ได้อย่างแน่นอน