ปตท.หั่นราคา NGV ต่ำสุดรอบปี 67 เหลือ  17.46 บ./กก. มีผล 16 พ.ย. – 15 ธ.ค.67

ผู้ชมทั้งหมด 58 

สืบเนื่องจาก มติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เห็นชอบให้นำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ( กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในการปรับหลักเกณฑ์การคิดราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาช่วยลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ NGV โดยการนำส่วนต่างราคาดังกล่าวมาช่วยพยุงราคาขายปลีก NGV ไม่ให้มีการปรับขึ้นอย่างทันทีจากราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงปลายปีที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 16 สิงหาคม – 15 ตุลาคม 2567

และนำส่วนต่างคงเหลือมาปรับราคาขายปลีก NGV ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567 จนครบวงเงินของส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ  โดยยังคงมาตรการช่วยเหลือจาก บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT ในกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ และกลุ่มรถบรรทุก ตามมติคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 โดยมอบหมายให้ ปตท. รับไปดำเนินการและให้รายงานผลการดำเนินการให้ กบง. ทราบต่อไป

จากมติดังกล่าว ปตท. ได้พิจารณาปรับลดราคา NGV ทั่วไป ต่อเนื่อง ตั้งแต่งวดวันที่ 16 ตุลาคม – 15 พฤศจิกายน 2567 ได้ปรับลด 69 สตางค์ต่อกิโลกรัม อยู่ที่ 17.90 บาทต่อกิโลกรัม

ล่าสุด ปตท. ได้ประกาศปรับลดราคาNGV ทั่วไป ลดลง 44 สตางค์ต่อกิโลกรัม เหลืออยู่ที่ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม จากเดือนที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ 17.90 บาทต่อกิโลกรัม มีผลระหว่างวันที่ 16 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2567 เพื่อสะท้อนกลไกราคาตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งในส่วนของราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไป ทาง ปตท.จะพิจารณาราคาทุกๆ 1 เดือน

โดยการราคา NGV ทั่วไปดังกล่าว อยู่ที่ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเป็น ราคาต่ำที่สุดในปี 2567 อีกครั้ง ซึ่งหากย้อนไปตลอดช่วง 10 เดือนของปี 2567(ม.ค.-ต.ค.) พบว่า ปตท. ได้เริ่มปรับราคา NGV สำหรับรถยนต์ทั่วไปตามกลไกราคาตลาด ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2567 โดยราคาเคยปรับขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 19.59 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือน มีนาคม 2567 ก่อนลดลงมาต่ำสุดในรอบวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567

ขณะที่การปรับราคา NGV สำหรับรถโดยสารธารณะ ล่าสุด รอบวันที่ 16 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2567 ราคามีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

กลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ หมวด 1 และหมวด 4 (ไม่รวมรถ ขสมก.) ราคาคงเดิม อยู่ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม

กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ หมวด 2 และหมวด 3 ราคาปรับลงจาก 17.90 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 17.46 บาทต่อกิโลกรัม (เป็นราคาที่เท่ากับราคา NGV ทั่วไป 17.46 บาทต่อกิโลกรัม)

ทั้งนี้ แม้ว่าการใช้ก๊าซNGV  ในปัจจุบันจะลดลงมาก แต่ก็ยังไม่สามารถยกเลิกการจำหน่ายได้ในทันที เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถNGV ที่ยังไม่มีกำลังในการปรับเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ประเภทอื่นแทน ภาครัฐจึงขอความมือให้ ปตท. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแบกรับภาระส่วนต่างราคามาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจุบัน ปตท.จะทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับผู้ใช้รถทั่วไป แต่ในส่วนของประชาชนกลุ่มเปราะบาง ปตท.ก็ยังคงทำหน้าที่แบกรับภาระส่วนต่างราคาต่อไป

ปตท. สนับสนุนส่วนลดราคาขายปลีก NGV สำหรับกลุ่มผู้ใช้ NGV ทั่วไปและกลุ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นมูลค่ากว่า 18,123 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 5 พฤศจิกายน 2567

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการNGV และผู้ใช้ก๊าซNGV จำเป็นต้องรีบปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์การส่งเสริมใช้เชื้อเพลิงในยานยนต์ของประเทศไทยที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต เนื่องจากตาม(ร่าง)แผนปฏิบัติการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) มีการกำหนดให้ราคา NGV ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดตั้งแต่ปี 2567-2575 พร้อมสนับสนุนให้เปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนรถที่ใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) และ NGV ดั้งเดิม ตามนโยบาย 30@30 หรือ มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะต้องดำเนินการภายในปี 2567-2580 โดยตั้งเป้าหมายให้ ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)การผลิตยานยนต์ในประเทศจะต้องเป็น EV อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน ปตท.ยังแนะนำผู้ใช้รถNGV ควรดูแลบำรุงรักษารถให้มีความปลอดภัย อาทิ เครื่องยนต์จะสตาร์ทโดยใช้น้ำมันเบนซิน จึงควรมีน้ำมันอยู่ในถังเสมอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับปั๊มเชื้อเพลิงอิเล็คทรอนิคส์ได้, ควรตรวจสอบรอบรั่วของท่อก๊าซ NGV ทุกเดือน โดยใช้ฟองสบู่หรือผลิตภัณฑ์ Prompt Check ของ ปตท.ฉีดตามท่อและข้อต่ออุปกรณ์ NGV หรือ ใช้เครื่องตรวจวัดก๊าซรั่วตรวจสอบ, การทำความสะอาดไส้กรอกอากาศ ในทุกๆ 1,000 กิโลเมตร และเปลี่ยนไส้กรองอากาศทุกๆ 10,000 กิโลเมตร, ควรสลับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกๆ วัน เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของบ่าวาล์วไอเสียของเครื่องยนต์ ,ตรวจสอบ และตั้งบ่าวาส์วอเสีย ทุกระยะใช้งานของรถ 40,000-60,000 กิโลเมตร, เปลี่ยนกรองก๊าซ ทุกๆระยะทาง 30,000 กิโลเมตร หรือทุก 1 ปี,เปลี่ยนหัวเทียน ทุกๆ ระยะทาง 30,000 กิโลเมตร ตลอดจนควรเข้ารับการบริการตรวจเช็คอุปกรณ์ NGV จากผู้ชำนาญการของศูนย์ติดตั้งฯ เท่านั้น เพื่ออายุที่ยาวนานของอุปกรณ์ NGV

การดูแลราคา NGV และการสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ของ ปตท.สะท้อนถึงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมและการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน แต่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนในอนาคต จำเป็นที่ภาครัฐควรเสริมสร้างนโยบายเชิงโครงสร้างให้เกิดความชัดเจน ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ