ผู้ชมทั้งหมด 836
ปตท.ลุยลงทุนพลังงานสะอาดเต็มสูบ เล็งปิดดีลขายธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ชัดเจนช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ชี้จังหวะเหมาะสม ราคาตลาดโลกปรับสูงขึ้น
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า การกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ Powering Life with Future and Beyond ที่จะมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ไปไกลกว่าธุรกิจพลังงาน โดยจะรุกธุรกิจพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ยา เวชภัณฑ์และอาหาร ถือเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจสนองต่อกระแสโลกที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต โดยในส่วนของพลังงานสะอาดนั้น ปตท.ได้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานทดแทนเป็น 12 GW หรือราว 12,000 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2573
ดังนั้น การลงทุนในธุรกิจถ่านหินที่มีอยู่นั้น ปตท.อยู่ระหว่างดำเนินการขายเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย และปัจจุบันถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากราคาถ่านหินในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่า การขายเหมืองถ่านหินที่อินโดนีเซียจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งปี 2565
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2564 ผลประกอบการธุรกิจถ่านหินของปตท. ถือว่าปรับตัวดีขึ้นมาก มีรายได้จากการขายจํานวน 16,983 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,204 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57.6% เมื่อเทียบกับปี 2563 สาเหตุหลักมาจากราคาขายถ่านหินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 29.2 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 54.3% จาก 53.8 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2563 มาอยู่ที่ 83.0 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2564 ซึ่งเป็นไปตามราคาอ้างอิง Newcastle ที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาขาดแคลนพลังงานในหลายประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนปริมาณขายถ่านหิน ในปี2564 อยู่ที่ 6.1ล้านตัน ลดลง 0.3 ล้านตัน หรือลดลง 4.7% จากปี2563 ที่มีปริมาณขายถ่านหินอยู่ที่ 6.4 ล้านตัน เนื่องจากการหยุดดําเนินการของแหล่ง Sebuku ตั้งแต่ต้นปี 2564 แม้ว่าปริมาณการผลิตจากแหล่ง Jembayan จะเพิ่มขึ้นตามแผนธุรกิจ
ส่งผลให้ปี 2564 ธุรกิจถ่านหินมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อมราคา(EBITDA) มีจํานวน 7,158 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,982 ล้านบาท หรือมากกว่า 100.0% จากปี 2563 โดยหลักจากกําไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นตามราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น แม้ปริมาณขายจะลดลงและกําไรจากการดําเนินงานตามส่วนงานในปี 2564 มีจํานวน 5,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,101 ล้านบาท หรือมากกว่า 100.0% ตาม EBITDA ที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 อีกทั้งในปี 2563 มีบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ถ่านหินจํานวน 8,773 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2564 ไม่มีรายการดังกล่าว
ทั้งนี้ เหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ปตท.ถือหุ้น 94.56% ในบริษัท Sakari Resources Limited (SAR) ซึ่งทำธุรกิจเหมืองถ่านหิน Sebuku และ Jembayan ในอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิตราว 8-9 ล้านตันต่อปี ก่อนที่จะปรับลดการผลิตลงหลังราคาถ่านหินลดต่ำลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันราคาถ่านหินได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาถ่านหินดีดตัวไปถึง 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน ล่าสุดดัชนีราคาถ่านหิน The Newcastle Export Index (NEX) อยู่ในระดับ 264 เหรียญสหรัฐต่อตัน ประเมินว่าในปี2565 ราคาถ่านหินจะยังคงเฉลี่ยในระดับสูง