ผู้ชมทั้งหมด 282
ปตท.สผ. เป็นเจ้าภาพงานประชุมเทคโนโลยีการเจาะสำรวจปิโตรเลียม ของเอเชียแปซิฟิก (APDT) ระดมผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีล้ำสมัย เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมพลังงาน
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นเจ้าภาพในการประชุมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเจาะสำรวจปิโตรเลียมของเอเชียแปซิฟิก “SPE/IADC Asia Pacific Drilling Technology” หรือ APDT ซึ่งจัดโดยสมาคมวิศวกรปิโตรเลียม (SPE) และสมาคมผู้รับเหมาในธุรกิจเจาะสำรวจระหว่างประเทศ (IADC) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะสำรวจปิโตรเลียม แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ รวมทั้ง สร้างเครือข่ายความร่วมมือ นำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัย และแนวทางสู่ความยั่งยืน โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
การประชุม APDT จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 8 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดย ปตท.สผ. ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการประชุมอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Advancing Drilling and Well Technologies for a Resilient Future” โดยมีการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ จากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของ ปตท.สผ. และบริษัทในอุตสาหกรรมพลังงานชั้นนำระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอบทความทางวิชาการมากกว่า 80 หัวข้อ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพการเจาะสำรวจให้กับอุตสาหกรรมพลังงาน รวมทั้ง แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภายในงาน มีการจัดแสดงนิทรรศการจากบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงาน สำหรับ ปตท.สผ. ได้นำเสนอโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งบริษัทได้ริเริ่มศึกษาและพัฒนาที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียม ที่บริษัทหรือบริษัทในเครือได้พัฒนาขึ้นเอง และพัฒนาร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ “Well Delivery Process (WDP) Application” สำหรับใช้ในการวางแผน ออกแบบ และพัฒนาการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียม โดยสามารถลดระยะเวลาการทำงานได้ถึงร้อยละ 30 เทคโนโลยีการปิดและสละหลุมปิโตรเลียม “Thermite Seal” ซึ่งใช้โลหะอัลลอยพิเศษที่ได้มีการคิดค้นและพัฒนาให้มีความปลอดภัย และช่วยลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ “XGATEWAY” หรือเรือผิวน้ำอัตโนมัติทำงานผ่านระบบดาวเทียม สามารถทำงานร่วมกับยานสำรวจใต้น้ำอัตโนมัติ เพื่อการตรวจสอบท่อปิโตรเลียมใต้ทะเล และสำรวจพื้นที่ตามแนวชายฝั่งเพื่อจัดทำแผนที่ใต้น้ำและลดระยะเวลาในการทำงาน