ปตท.สผ. แจงผู้ถือหุ้นฯปี65 เร่งผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณ-ลุ้นลงทุน “โมซัมบิกฯ”

ผู้ชมทั้งหมด 970 

ปตท.สผ.แจงผู้ถือหุ้นปี 65 เร่งลงทุนเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯแหล่งเอราวัณ จ่อกลับเข้าไปลุยลงทุนโครงการ โมซัมบิก แอเรีย วัน หากสถานการณ์สงบ ลุ้นเริ่มผลิตน้ำมันโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ เร็วๆนี้ ชี้หากสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ยืดเยื้อ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี แกว่ง 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ผู้ถือหุ้น ไฟเขียวจ่ายปันผลส่วนที้เหลือปี2564 อัตราหุ้นละ 3 บาท 18 เม.ย.นี้

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่  28 มี.ค.2565 โดยระบุว่า ในปี 2565 แผนการลงทุนของ ปตท.สผ. ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการขุดหลุมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ(แปลง G1/65) เพื่อเร่งแผนพัฒนากำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นมาให้ได้ตามแผน ขณะที่การลงทุนในประเทศ บริษัทมีแผนที่จะเดินหน้าลงทุนในโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก หากสถานการณ์ต่างๆกลับเข้าสู่ภาวะปกติและสามารถกลับเข้าไปเริ่มการลงทุนได้ ก็คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนในปี 65

อีกทั้ง คาดว่าจะเริ่มทำการผลิตน้ำมันดิบในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ในเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของปตท.สผ. รวมถึงเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่างๆที่ค้นพบในมาเลเซีย และเมื่อสัปดาห์ก่อน บริษัทย่อยของ ปตท.สผ. และบริษัท ซาปุระโอเอ็มวี อัพสตรีม (มาเลเซีย) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุน ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) กับปิโตรนาส เพื่อเข้ารับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แปลงเอสบี 412 ในประเทศมาเลเซีย จากการประมูลสิทธิสำรวจปิโตรเลียมในปี 2564 (Malaysia Bid Round 2021) ซึ่งจัดโดยหน่วยงาน Malaysia Petroleum Management ของปิโตรนาส  ความสำเร็จครั้งนี้ ส่งผลให้ปัจจุบัน ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในมาเลเซียรวมทั้งสิ้น 12 สัญญา สอดคล้องกับแผนขยายการลงทุนของ ปตท.สผ.ตามกลยุทธ์ในระยะยาว

ส่วนความคืบหน้าการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ(แปลง G1/61) ที่ล่าช้าจากแผนไป 2 ปี ทำให้ ปตท.สผ.ไม่สามารถรักษาอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ โดยระยะแรกหลังครบกำหนดสัญญาสัมปทานเดิม คาดว่า จะเหลือกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ประมาณ 425 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากผู้รับสัมปทานรายเดิมได้หยุดการพัฒนาแหล่งก๊าซฯมาระยะหนึ่งแล้ว ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯลดลงและมีบางหลุมต้องปิดลงไป

ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ปตท.สผ.จำเป็นต้องรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯให้อยู่ในระดับ 250-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคาดว่าจะใช้เวลา 24 เดือนในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯให้กลับมาอยู่ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ยังได้วางแผนเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแหล่งอื่นมาชดเชย เช่น แหล่งบงกช คาดว่าจะเพิ่มอัตราการผลิตฯได้ 125 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แหล่งอาทิตย์ คาดว่าจะผลิตเพิ่ม 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่ง JDA คาดว่าจะผลิตเพิ่ม 30-50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้ง 3 แหล่ง จะเพิ่มก๊าซฯเพิ่มได้ รวม 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่สัญญา PSC ของแหล่งเอราวัณมีอายุ 20 ปี และหากพบว่ายังมีศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียมได้ต่อก็สามารถต่ออายุสัญญาออกไปได้อีก 10 ปี

ส่วนกรณีที่โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ (TotalEnergies EP Myanmar) ได้แจ้งขอยุติการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการในโครงการยาดานา ประเทศเมียนมา ช่วงปลายเดือนม.ค.2565 นั้น โดยที่ ปตท.สผ. ขอแจ้งว่า บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PTTEPI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม ปตท.สผ. จะเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการนี้แทน และจะมีผลในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565

“ขอยืนยันว่า การถอนตัวของ โททาล ไม่มีผลกระทบต่อปตท.สผ. และแผนการผลิตก๊าซฯในปี 2565 ยังเดินหน้าต่อไป ซึ่งจะมีอัตราการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และตามสัดส่วนการลงทุนจะทำให้ ปตท.สผ.รับรู้รายได้เพิ่มเป็น 4% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท จากเดิม 3% ทั้งนี้ โครงการนี้ ที่ปตท.สผ.เข้าไปรับสัดส่วนการลงทุนเพิ่ม จะส่งผลให้งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านทุน (CAPEX) เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ฯ และงบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เพิ่ม 8 ล้านดอลลาร์ฯต่อปี”

ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาขายปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลต่อราคาก๊าซฯที่จะปรับตามราคาน้ำมันดิบย้อนหลัง 6-12 เดือน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.มีสัดส่วนรายได้จากการขายก๊าซฯ ในสัดส่วน 70% และการขายน้ำมัน สัดส่วน 30% โดยคาดหวังว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับลดลงมาอยู่ในกรอบ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ หากความขัดแย้งจบลงในเดือนเม.ย.นี้ แต่หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป ก็อาจเห็นราคาน้ำมันดิบขึ้นไปแตะระดับ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือ มีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ปตท.สผ. ได้วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง และ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่ง ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) และยังได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดปริมาณความเข้ม (Intensity) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2573 และ 50% ภายในปี 2583 (จากปีฐาน 2563) เพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2593 หลังจากเมื่อปี 2564  ปตท.สผ.สามารถลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 24.1% โดยคาดว่าในปี 2565 จะสามารถบรรลุเป้าหมายลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ไม่น้อยกว่า 25% ในปี 2573 หรือเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น รับทราบการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และอนุมัติการจ่ายเงินปันผล ประจำปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 5.00 บาท โดย ปตท.สผ. ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท (จากกำไรสะสม ที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม) และจะจ่ายเงินปันผลส่วนที่เหลือของปี 2564 ในอัตราหุ้นละ 3.00 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายจากกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมทั้งจำนวน ให้แก่ ผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 18 เมษายน 2565 โดยจะจ่ายเมื่อได้รับอนุมัติ จากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565