ผู้ชมทั้งหมด 1,965
กระแสการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ที่เข้ามามีอิทธิพลกับการประกอบธุรกิจในหลายภาคส่วนทั่วโลกนั้น ทำให้ธุรกิจ Oil & Gas ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ กำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่านเพื่อไปสู่เป้าหมาย คาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ตามทิศทางของโลกในอนาคตที่ต้องการพลังงานสะอาดมากขึ้น
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนในธุรกิจขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม (E&P) ในเครือ ปตท. กำลังปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อเดินหน้าเข้าสู่ Energy Transition เช่นกัน
พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านธุรกิจ Oil & Gas ไปเป็นอะไรนั้น ยังเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก แต่เป้าหมายที่ทุกคนมองเหมือนกันคือน่าจะไปที่เทคโนโลยีไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดย Energy Transition คือการทำให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอนสูง (High Carbon) เป็นการปลอดปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่จะรับมือ เช่นเรื่องของเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เป็นเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และนำมากักเก็บภายใต้พื้นดินหรือใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆ
และยังมีแนวทางหนึ่ง คือการนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลใช้มาเป็นสารตั้งต้น เช่น ใช้ในส่วนประกอบแบตเตอรี่ ฉนวน เคมีภัณฑ์ต่างๆ
รวมถึงการทำเป็น ท่อนาโนคาร์บอน (Carbon Nanotube:CNT) ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้มีการจัดทำต้นแบบ (Prototype) ที่โครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ และสามารถผลิตออกมาได้แล้วและอยู่ระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งในอนาคตก็อาจจะกลายเป็นธุรกิจใหม่ของ ปตท.สผ.ได้ และมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะเป็นการนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิต (FlareGas) เป็นส่วนที่ต้องเผาทิ้งซึ่งมีต้นทุน ก็สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้
“เราเชื่อว่า ธุรกิจก๊าซฯยังเป็นพื้นฐานสร้างไฟฟ้าสะอาดระดับหนึ่ง เพราะโซลาร์ฯ หรือ พลังงานหมุนเวียนต่างๆยังมีต้นทุนสูง ฉะนั้นก๊าซฯ น่าจะเป็น transition fuel ไปในอนาคต”
ฉะนั้น เรื่องของ Energy Transition ปตท.สผ.เองก็มองหาเทคโนโลยีรองรับพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะ ไฮโดรเจน ก็เป็นเรื่องสำคัญ และปัจจุบันก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่ม Hydrogen Thailand เพื่อผลักดันให้เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันทางทีมเทคโนโลยีของปตท.สผ.ก็กำลังพูดคุยกับทางพาร์ทเนอร์ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) ซึ่งพยายามศึกษาร่วมกัน และก็หวังว่าจะมีการร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ปตท.สผ.ก็ได้ริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านการจัดตั้งบริษัทลูก คือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออารวี(ARV) ขึ้นมาเมื่อ 3 ปีก่อน จากแรกเริ่มเป็นธุรกิจพัฒนาหุ่นยนต์ใต้น้ำ สำหรับนำไปใช้ซ่อมท่อและแท่นในอุตสาหกรรม E&P ของบริษัท และต่อมาก็พัฒนาสู้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เปิดโอกาสให้ เออาร์วี รุกเข้าสู่ธุรกิจ Healthcare และจากวิกฤตโควิด-19 ยังทำให้ เออาร์วี สามารถเพิ่มจำนวนพนักงานได้เพิ่มขึ้นพอสมควร และปัจจุบันก็มีแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น ทั้งธุรกิจหุ่นยนต์ใต้น้ำ ธุรกิจโดรน ที่นอกจากใช้ในอุตสาหกรรม Oil & Gas ยังใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรฯ การตรวจสอบเสาไฟฟ้าแรงสูง และเสาโทรคมนาคมด้วย ดังนั้นในอนาคตจะมีธุรกิจที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีแบบนี้มากขึ้น
“ประเทศไทยเรามองว่าตรงนี้ยังมี room อีกมหาศาล ผมก็หวังว่าตัว เออาร์วี จะเป็นบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีอันดับ 1 ของประเทศไทยในเวลาอันใกล้นี้ ก็มีแนวทางดำเนินงานอยู่พอสมควรแล้ว”
พงศธร มองว่า การเติบโตของ เออาร์วี ในอนาคต จะให้เริ่มออกไปหาเงินลงทุนเองมากขึ้น เพราะการขยายธุรกิจของเออาร์วี ผ่านการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทต่างๆนั้น ก็อาจเข้าระดมทุนในรูปแบบ Venture Capital (VC) ที่ปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุน VC กับบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้วยความหวังว่าบริษัทเหล่านั้นจะสามารถเติบโตได้ จึงนำเม็ดเงินเข้าไปร่วมลงทุนใน VCต่างๆ หรืออาจหวังผลในเรื่องของซึมซับเทคโนโลยี หรือเทคนิคต่างๆที่บริษัทนั้นๆพัฒนาขึ้น
ซึ่งตอนนี้ก็มองว่า บริษัทลูกของเออาร์วี ก็จะเป็นบริษัทในลักษณะดังกล่าวที่มีคนสนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่จะนำเม็ดเงินเข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยี หรือธุรกิจต่างๆ
“เรามั่นใจว่า เราน่าจะไปในลักษณะนั้นได้ หรือ ตอนจบก็อาจเข้าระดมทุนในตลาดทุนก็เป็นไปได้”
สำหรับปีนี้ เบื้องต้น คาดว่า เออาร์วี จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากมองในแง่ของบริษัทที่ก่อตั้งมา 3 ปี ก็ถือว่าน่าพอใจ แต่ก็คาดหวังว่า ในอนาคต เออาร์วี จะเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เป็นยูนิคอร์น (Unicorn ) หรือ ธุรกิจที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์”
นอกจากนี้ ปตท.สผ. จะพยายามเข้าไปดูเรื่องธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อให้บริษัทเติบโตสอดคล้องกับแนวทางความร่วมมือที่จะทำให้โลกสะอาดขึ้น ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานรูปแบบใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยระบบรวมแสงอาทิตย์ (Concentrating Solar Power : CSP) เป็นต้น
โดยที่ ปตท.สผ. ยังคงเป้าหมายมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่ไม่ใช่ Oil & Gas หรือ ธุรกิจใหม่ อยู่ที่ 20% ภายในปี 2573 และมั่นใจว่า ทุกคนในปตท.สผ.กำลังผลักดันเป้าหมายดังกล่าว