ผู้ชมทั้งหมด 468
ปตท.สผ. โชว์ผลงานปี66 นำส่งรายได้ให้รัฐ กว่า 54,280 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้ ตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตปิโตรเลียม อีกประมาณร้อยละ 9 มาอยู่ที่อัตรา 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมลุยลงทุน 230,194 ล้านบาท (เทียบเท่า 6,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) พัฒนาโครงการก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน และพลังงานสะอาด เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในปัจจุบัน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานสำหรับอนาคต
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ ในปี 2566 จำนวน 54,280 ล้านบาท โดยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น ทั้งนี้ ส่วนแบ่งของผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการจี 1/61 และจี 2/61 ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้ทางตรงจากการผลิตปิโตรเลียมที่รัฐนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ผลประกอบการด้านการเงินของปี 2566 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 315,216 ล้านบาท (เทียบเท่า9,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) ลดลงประมาณร้อย 6 เมื่อเทียบกับปี 2565 มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 462,007 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 48.21 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงประมาณร้อยละ 10 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายจ่ายจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-operating items) ลดลง เช่น การประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน การบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) เป็นต้น จึงส่งผลให้มีกำไรสุทธิในปี 2566 จำนวน 76,706 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,208 ล้านดอลลาร์ สรอ.) ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิดังกล่าว มาจากโครงการที่ลงทุนในต่างประเทศทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง
กำไรสุทธิจากการดำเนินงานดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญที่บริษัทจะนำมาใช้ในการลงทุนพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามแผนงานปี 2567 ซึ่งได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 230,194 ล้านบาท (เทียบเท่า 6,721 ล้านดอลลาร์ สรอ.) โดยมีแผนจะเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ ปลาทอง สตูล และฟูนาน) ให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายนนี้ พร้อมรักษากำลังการผลิตก๊าซฯ จากโครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมทั้ง จะเร่งการสำรวจปิโตรเลียมในไทยและต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานในอนาคต
โดยในปีนี้ ปตท.สผ. ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการผลิตปิโตรเลียม อีกประมาณร้อยละ 9 มาอยู่ที่อัตรา 505,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน รองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้สำรองงบประมาณเพิ่มเติม (Provisional Budget) อีกจำนวน 67,822 ล้านบาท (เทียบเท่า 2,022 ล้านดอลลาร์ สรอ.) ในช่วง 5 ปี (2567 – 2571) เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบ ต่าง ๆ อีกด้วย
จากผลการดำเนินการดังกล่าว บริษัทได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2566 ให้แก่ผู้ถือหุ้น ที่จำนวน 9.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิที่ร้อยละ 48.9 รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 37,715 ล้านบาท ได้จ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรกไปแล้วในอัตรา 4.25 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ส่วนที่เหลืออีก 5.25 บาทต่อหุ้น จะจ่ายในวันที่ 22 เมษายน 2567 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2567 ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินปันผลดังกล่าว จะถูกนำส่งให้กระทรวงการคลังผ่านการถือหุ้นในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ปตท.สผ. เพื่อการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน
ในปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยด้านการสำรวจ บริษัทได้ชนะการประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รอบที่ 24 ในแปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งทั้ง 2 แปลงอยู่ใกล้กับโครงการของบริษัทซึ่งมีการดำเนินงานอยู่แล้ว จึงสามารถพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานในอนาคต นอกจากนั้น ยังขยายฐานการเติบโตในประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้น จากการได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงใหม่เพิ่มเติมในแปลงสำรวจเอสเค 325 รวมทั้ง ยังสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ 3 แหล่งนอกชายฝั่งซาราวัก จากหลุมสำรวจเชนด้า-1 หลุมสำรวจ บังสะวัน-1 และหลุมสำรวจบาบาด้อน-1 ซึ่งสามารถวางแผนเร่งรัดพัฒนาแหล่งที่ค้นพบในรูปแบบกลุ่ม (Cluster) เพื่อเริ่มการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างรวดเร็วขึ้น
ในปี 2566 เป็นปีที่ ปตท.สผ. ได้เริ่มขยายการดำเนินงานไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ตามแผนกลยุทธ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน โดยได้รับสิทธิพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในแปลงสัมปทาน Z1-02 ในรัฐสุลต่านโอมาน และการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 25.5 ในโครงการ Seagreen Offshore Wind Farm ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสกอตแลนด์ โดยสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้ทันที รวมถึง ได้เริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “ลานแสงอรุณ” ที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตปิโตรเลียมที่โครงการเอส 1 เป็นการช่วยลดการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ในด้านการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) นั้น ปตท.สผ. ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมประมาณ 2.47 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปีฐาน 2563 ผ่านการบริหารจัดการในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การจัดการหลุมผลิตที่เหมาะสม และจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น การนำก๊าซส่วนเกินจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมกลับมาใช้ใหม่ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น นอกจากนี้ ปตท.สผ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อเข้าร่วมโครงการความร่วมมือด้านมีเทนของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ (The Oil & Gas Methane Partnership 2.0 หรือ OGMP 2.0) ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเข้าร่วมลงนามในกฎบัตรของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในการประชุม COP28 ร่วมกับ 52 บริษัทผู้ก่อตั้ง โดยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซมีเทนและขจัดการปล่อยก๊าซส่วนเกิน ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมในสภาวะการทำงานปกติให้ใกล้ศูนย์มากที่สุด ภายในปี 2573
พัฒนาพลังงานสะอาด พัฒนาองค์ความรู้บริษัทไทยเพื่อพลังงานในอนาคตจากการที่ ปตท.สผ. ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด ทั้งโครงการพัฒนากรีนไฮโดรเจนในรัฐสุลต่านโอมาน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ประเทศสกอตแลนด์ รวมทั้ง ร่วมศึกษาโครงการ CCS กับบริษัทชั้นนำระดับโลกต่าง ๆ นั้น นอกจากเป็นการขยายธุรกิจแล้ว ยังเป็นโอกาสในการศึกษาและเรียนรู้การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานรูปแบบใหม่แห่งอนาคต รวมถึง เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งจะเสริมสร้างให้ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทไทยมีประสบการณ์และความชำนาญมากยิ่งขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดต่าง ๆ ในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศอีกด้วย