ผู้ชมทั้งหมด 14,743
ปตท.สผ. ปรับเป้าปริมาณการขายปี 66 ลดเหลือ 456,000 บาร์เรลต่อวัน เตรียมพร้อมกำลังการผลิตโครงการ จี1/61 กลางปี 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เตรียมแผนเข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการโมซัมบิกแอลเอ็นจี พร้อมลุยธุรกิจใหม่เล็งตั้งโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอล
นางอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่า แนวโน้มปริมาณการขายเฉลี่ยในไตรมาส 2/2566 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 437,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ที่มีปริมาณการขายเฉลี่ย 460,817 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากปริมาณการขายจากโครงการในต่างประเทศลดลง โดยเฉพาะปัญหาในการผลิตบางโครงการในประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไข
นอกจากนี้จากที่มีการเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานมาสู่ระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) ของโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ส่งผลให้ปริมาณการขายที่จะรายงานได้ต้องสุทธิจากส่วนแบ่งผลผลิตที่ทางรัฐได้รับไปแล้วจึงทำให้ปริมาณการขายของแหล่งบงกชรายงานลดลง
ดังนั้นในภาพรวมทั้งปี 2566 บริษัทฯ จึงได้ปรับเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 456,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2565 ปริมาณการขายเฉลี่ยที่ 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากปริมาณการขายในต่างประเทศที่ลดลง
นอกจากนี้บริษัทยังเชื่อมั่นว่าปีนี้จะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) ที่ 70-75% ด้านราคาขายก๊าซธรรมชาติในไตรมาส 2/66 (GAS Price) ก็น่าจะปรับตัวลงเช่นกันตามราคาน้ำมันในตลาดโลก คาดอยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และทั้งปีคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ด้านต้นทุนต่อหน่วยโดยรวมคาดยังอยู่ที่ 27-28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตในโครงการจี1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล, ฟูนาน) บริษัทได้เร่งการเจาะหลุมผลิต เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ตามแผนงานที่วางไว้ โดยจะเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในช่วงกลางปีนี้ และจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปลายปี และจะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 ดังนั้นคาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะทำได้มากกว่า 500,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
สำหรับโครงการที่ชนะประมูลแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย รอบที่ 24 จำนวน 2 แปลง คือ แปลงจี 1/65 และแปลงจี 3/65 ซึ่งอยู่ใกล้กับโครงการจี 1/61 และจี 2/61 ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเร่งแผนการพัฒนาโครงการได้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยทั้ง 2 แปลงนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการลงนามสัญญา PSC
ขณะที่การลงทุนในประเทศมาเลเซีย การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลง SK325 เชื่อว่ามีศักยภาพ ซึ่งจะสามารถต่อยอดการเติบโตในประเทศมาเลเซียได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการ SK410B อยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรมในเบื้องต้น เพื่อรองรับการตัดสินใจการลงทุนต่อไป โครงการยูเออี Offshore 2 อยู่ระหว่างการวางแผนและเร่งพัฒนา
โครงการ Mozambique LNG อยู่ระหว่างการหารือแผนการกลับเข้าพื้นที่ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการต่อ หลังจากเมื่อปี 2021 เกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นที่เมือง Palma ประเทศโมซัมบิก จึงได้หยุดดำเนินการก่อสร้างไป โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ปัจจุบันผลิตอยู่ที่ 14,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ระหว่างหาแนวทางเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 17,000 บาร์เรลต่อวัน ในปลายปีนี้
ด้านธุรกิจใหม่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “โรงงานผลิตกรีนอีเมทานอล” (Green e-methanol) เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่ได้จากการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ชีวภาพ หากผลการศึกษาประสบความสำเร็จ จะเริ่มการก่อสร้างโรงงานต้นแบบที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นโรงงานผลิตกรีนอีเมทานอลแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาดว่าจะทราบผลการศึกษาในช่วงกลางปีนี้
โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบด้านวิศวกรรม (Front-End Engineering and Design: FEED) โดยบริษัทคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ในครึ่งหลังปีนี้