ผู้ชมทั้งหมด 717
ปตท.สผ. ใช้เวทีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 ประกาศเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 ขณะที่ปีนี้ คาดว่า จะบรรลุเป้าหมายลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ไม่น้อยกว่า 25% เร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งไว้ 8 ปี
รายงานข่าวจาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ระบุว่า ในการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 เพื่อชี้แจงผลการดำเนินธุรกิจปี 2564 และแผนการลงทุนของบริษัทในอนาคตนั้น
ปตท.สผ. ยังได้ประกาศเป้าหมายและแผนการดำเนินงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 โดยจะเลือกลงทุนในโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero GHG Emissions เน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติ และนำปัจจัยเกี่ยวกับความเข้มของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาพิจารณาประกอบการลงทุน โดยบริษัทจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต อาทิ โครงการการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บ (Carbon Capture and Storage – CCS) การปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) สำหรับโครงการใหม่ๆ นอกจากนี้ บริษัทจะมุ่งสร้างสมดุลด้วยการปลูกป่า ทั้งป่าบกและป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังได้กำหนดเป้าหมายเพื่อลดปริมาณความเข้ม (Intensity) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2573 และ 50% ภายในปี 2583 (จากปีฐาน 2563) เพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ตามเป้าหมายในปี 2593 หลังจากเมื่อปี 2564 ปตท.สผ.สามารถลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 24.1% โดยคาดว่าในปี 2565 จะสามารถบรรลุเป้าหมายลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ไม่น้อยกว่า 25% ในปี 2573 หรือเร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8 ปี
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ ปตท.สผ. ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด รวมทั้ง ได้จัดงานในรูปแบบการจัดประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เช่น ลดการจัดพิมพ์เอกสาร ลดปริมาณการใช้วัสดุย่อยสลายยาก แยกขยะและบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน