ผู้ชมทั้งหมด 707
ปตท.สผ. คาดแผนเร่งผลิตแหล่งเอราวัณ ช่วยหนุนปริมาณขายปิโตรเลียมทั้งปี66 แตะ 4.7 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ขณะที่ราคาก๊าซเฉลี่ยปี66 อยู่ที่ 6.1 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วน EBITDA Margin คงเดิม 70-75% เผยยังมองโอกาสทำดีล M&A เพิ่ม
นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผย ในงาน Oppday Year End 2022 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) PTTEP เมื่อวันที่ 7 ก.พ.2565 โดยระบุว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 คาดว่า ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย จะอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย (Sales volumes) 468,130 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยเป็นผลมาจากการเร่งลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61(แหล่งเอราวัณ) ซึ่งในปีที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เสร็จสิ้นการติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead platform) จำนวน 8 แท่นเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี และในเดือนเมษายน 2567 อัตราการผลิตก๊าซฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนไตรมาส1 ปี2566 คาดว่า ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย จะอยู่ที่ 472,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ขณะที่ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปี2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.1 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และช่วงไตรมาส1ปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 6.7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ส่วนต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) เฉลี่ยทั้งปี2566 จะลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 27-28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin คงเดิมที่ระดับ 70-75%
สำหรับทิศทางการลงทุนของบริษัทในปีนี้ ยังคงโฟกัสในประเทศที่มีฐานลงทุนอยู่เดิม แบ่งเป็น ในประเทศไทย จะมุ่งมั่นเพิ่มการผลิตโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ให้ได้ตามแผน ส่วนโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามเงื่อนไขสัญญา PSC
ส่วนการลงทุนในเมียนมา ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีการลงทุน 2 แปลง ได้แก่ ยาดานาและซอติก้า ยังคงเดินหน้าผลิตก๊าซฯเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของทั้ง 2 ประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในมาเลเซีย ซึ่งมีการลงทุนอยู่หลายแปลง มีการค้นพบศักยภาพก๊าซฯ และจะเร่งพัฒนา ได้แก่ โครงการลัง เลอบาห์ ในโครงการซาราวัก เอสเค 410บี นอกชายฝั่งประเทศมาเลเซีย คาดว่า จะเริ่มผลิตก๊าซฯ ออกมาได้ภายในปี 2570 ตั้งเป้าผลิตรวม 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
รวมถึง ปตท.สผ.โฟกัสในแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ โครงการ Oman Block 61 ในประเทศโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) มีการลงทุนโครงการ ออนชอร์ 2 แปลง และ ออฟชอร์ 3 แปลง และมีการค้นพบก๊าซฯ ซึ่งก็อยู่ระหว่างเร่งการลงทุน อีกทั้งยังมีการลงทุนในประเทศแอลจีเรีย ในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคช ซึ่งเริ่มผลิตแหล่งน้ำมันแหล่งที่ 2 ได้
“ราคาน้ำมันดิบที่อ่อนตัวในปีนี้ ก็เป็นไปตามกลไกราคาในตลาดโลก ซึ่งบริษัทก็มีการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน เพื่อป้องกันกระแสเงิน โดยบริษัทยังมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดอยู่ที่ 6.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการที่จีน เปิดประเทศก็คาดว่าจะส่งผลดีต่ออุปสงค์น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. ยังรอลุ้นผลการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 ซึ่งเป็นแปลงที่มีศักยภาพและอยู่ใกล้กับแท่นผลิตของปตท.สผ. ในปัจจุบัน คาดว่า จะทราบผลการประมูลในเดือน ก.พ. 2566
นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ระบุว่า บริษัท ได้สำรองงบลงทุนสำหรับธุรกิจใหม่ไว้อยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจของบริษัทในการขยายการเติบโตไปยังธุรกิจใหม่ โดยได้ตั้งเป้าหมายจะต้องมีกำไรสุทธิที่มาจากธุรกิจใหม่ สัดส่วนไม่น้อยกว่า 20% ภายในปี 2573
ส่วนแผนขยายการลงทุนในปี 2566 ที่บริษัทได้ต้องตั้งงบประมาณการลงทุน จำนวน 5,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สรอ. (เทียบเท่า 191,818 ล้านบาท)นั้น ในส่วนนี้ยังไม่รวมกับแผนควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ซึ่งบริษัทยังมองหาโอกาสเข้าลงทุนในประเทศเป้าหมายหลัก ที่จะเป็นในลักษณะของโครงการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นการลงทุน หรือท้ายการลงทุน เพื่อสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทได้ทันที