ปตท. ลุยขับเคลื่อน “ไฮโดรเจน – CCS” กลไกช่วยชาติบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน

ผู้ชมทั้งหมด 138 

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) กลายเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต หากมวลมนุษย์ไม่ร่วมมือกันยับยั้งสาเหตุที่จะนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศให้ลดลง

ประเทศไทย ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จึงได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เกี่ยวกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero greenhouse gas emissions) ในปี พ.ศ. 2608

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นลำดับที่ 20 ของโลกจาก 198 ประเทศ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานถึง 70% จากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร ฉะนั้นการจะเลิกใช้พลังงานจึงเป็นไปได้ยาก แต่การหาสมดุลการใช้พลังงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นหนทางที่ดำเนินการได้ง่ายกว่า

กระทรวงพลังงาน จึงได้เร่งจัดทำ “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024)” เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายลดโลกร้อน โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ด้วยข้อจำกัดของเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่มีเสถียรภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 100% จึงจำเป็นต้องมีการก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดเข้ามารักษาระบบ ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในสัดส่วนกว่า 50% รวมถึงการแสวงหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และแบตเตอรี่ ที่ยังต้องรอให้ราคาถูกลง เพื่อลดผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

ขณะเดียวกันยังมีพระเอกสำคัญ คือ โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS) ที่จะเข้ามาช่วยให้ไทย บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วย แต่การแก้ไขปัญหา climate change ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชน และประชาชน

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นด้านพลังงานของประเทศ และมีบทบาทเป็นผู้จัดหาและผลิตพลังงานรายใหญ่ของประเทศ จึงมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาผนึกกำลังกับภาครัฐเพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน

กลุ่มปตท. จึงมีแผนการสร้างสมดุล ESG หรือ แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS)  โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท.

ดร.ธนา ศรชำนิ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีและธุรกิจไฮโดรเจน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เล่าว่า  ปัจจุบันประเทศไทย มีการผลิตไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) อยู่แล้ว โดยเป็นไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ที่อยู่ในกระบวนการโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานปิโตรเคมี แต่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้ คือ การมุ่งไปสู่ไฮโดรเจนที่มาจากเชื้อเพลิงสะอาด โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นการผลิตก๊าซไฮโดรเจนที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศระหว่างการผลิต ทำให้ไฮโดรเจนสีเขียวมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับไฮโดรเจนประเภทอื่น แต่ปัจจุบันยังมีราคาแพง

อย่างไรก็ตาม หากโครงการ CCS เกิดขึ้น ก็จะมีการดักจับคาร์บอนในกระบวนการผลิต ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนจาก Grey Hydrogen เป็นไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen) ได้ทันที เพราะเป็นการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอน หรือฟอสซิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตเช่นเดียวกัน แต่มีการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (Carbon Capture & Storage Technology) เพื่อดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ แล้วอัดเก็บไว้ใต้ดินที่ปลอดภัย หรือเอาไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ได้ต่อไป

ทั้งนี้ ตามร่างแผน PDP 2024 ของไทย กำหนดให้นำไฮโดรเจน มาผสมในการผลิตไฟฟ้า สัดส่วนราว 5% ในปี พ.ศ.2573 ดังนั้นเชื่อว่า ในช่วงแรกจะเป็นการนำเข้าไฮโดรเจนจากต่างประเทศมาก่อน เพราะยังไม่มีโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในราคาถูกได้ เว้นแต่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น

ขณะที่ กลุ่ม ปตท. ภายใต้การดำเนินงาน ของ ปตท.สผ. ยังได้พัฒนาโครงการ CCS แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้ โครงการ Arthit CCS (แหล่งอาทิตย์) ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ที่แหล่งก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ได้ในปี 2570 โดยหลังจากการนำก๊าซธรรมชาติจากหลุมใต้ดินขึ้นมาใช้หมดแล้ว จะนำของเหลือที่ไม่ต้องการ เช่น CO2  ซึ่งถูกดักจับไว้และจะถูกอัดกลับลงในหลุมที่ว่าง เพื่อกักเก็บถาวรในชั้นหินใต้ดินลึกลงไปมากกว่าพันเมตร คาดว่าจะสามารถลดการปล่อย CO2 ประมาณ 700,000–1,000,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังผนึกกำลังกับ ปตท.สผ. จัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Eastern Thailand CCS Hub โดยจะเริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี (Seaboard) เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะมีการวางท่อฯ ตั้งแต่ศรีราชามาถึงนิคมฯมาบตาพุด ติดตั้งสร้างสถานีคาร์บอนไดออกไซด์ และต่อท่อลงไปเก็บใต้ทะเล

แต่โครงการฯ นี้ ยังติดปัญหาเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และอยู่ระหว่างการหารือกับภาครัฐเพื่อจัดทำเป็นรูปแบบ One Stop Service โดยคาดว่า โครงการฯนี้ จะศึกษาความเป็นไปได้และตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในปีพ.ศ. 2573 และดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2577 มีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 10 ล้านตันต่อปี

ขณะที่ประเทศไทย ต้องการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี พ.ศ.2608 จะต้องมีการกักเก็บคาร์บอนมากถึง 60 ล้านตันต่อปี ดังนั้น การจะดำเนินโครงการ CCS เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาให้การสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่และเร่งผลักดันให้โครงการใสเฟสทดลองเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการพัฒนาในเฟสถัดไป นอกจากนี้ ในอนาคตยังจะเปิดโอกาสให้โรงงานนอกกลุ่ม ปตท.เข้ามาร่วมนำคาร์บอนฯลงไปกักเก็บในโครงการ CCS ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ปตท.ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงสะอาด โดยมุ่งสู่การผลิตไฮโดรเจนสีฟ้า (Blue Hydrogen) และไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen)

โดยที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและยานยนต์ สถาบันนวัตกรรม ปตท. ร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (TMT) และ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG)  ต่อยอด “โครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระบบสาธิตการใช้ Hydrogen ในรถ FCEV”  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง “PTT – OR – TOYOTA – BIG” ที่ได้เปิดสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) แห่งแรกของประเทศไทย (Hydrogen Station) ณ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 โดยได้เพิ่มขีดความสามารถของ Hydrogen Station ในการเติมเชื้อเพลิงจากที่สามารถเติมให้กับรถยนต์ Toyota Mirai ซึ่งมีความจุ Hydrogen ที่ 5.6 กิโลกรัม เพิ่มเป็นความจุสูงสุดที่ 50 กิโลกรัม เพื่อขยายผลการใช้งานในรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย อีกทั้งยังส่งผลให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิงอีกด้วย ซึ่งโครงการฯนี้ จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีความร่วมมือ ภายใต้โครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ที่ศึกษาร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย และมีเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อตอบรับเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงตอบสนองความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และศึกษาโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบัน โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและรูปแบบธุรกิจให้เหมาะสมมากขึ้น คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในปี2567 หรือ ปี2568

ทั้งนี้ การจะขับเคลื่อนให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ โดย ปตท.ได้ร่วมกับ 77 องค์กรที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club เพื่อผลักดันให้ไฮโดรเจน เป็น Energy Platform สำคัญของประเทศไทย โดยได้จัดทำ Hydrogen Whitepaper for Thai’s Government ส่งมอบให้กับภาครัฐ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในการร่างHydrogen Roadmap สำหรับประเทศไทย พร้อมกับเดินหน้าจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมไฮโดรเจนแห่งประเทศไทย โดยเตรียมนัดหมายประชุมครั้งที่ 1 ในเร็วๆนี้ และคาดว่า จะเปิดตัวสมาคมฯอย่างเป็นทางการได้ในช่วงต้นปี 2568

การพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจน และ CCS ของกลุ่ม ปตท. ถือว่ามีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้น และขยายผลได้ในวงกว้าง เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืนในอนาคต