ผู้ชมทั้งหมด 1,621
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันนั้นส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก กระทบต่อรายได้ของประชาชน ส่งผลให้รายได้หลายครัวเรือนลดน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยย่อมได้รับผลกระทบมากที่สุด การกระตุ้นเศรษฐกิจ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยไม่ได้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ภาคเอกชนเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งก็มีหลายบริษัทที่ได้จัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 มาอย่างต่อเนื่อง
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้จัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อสังคมมาโดยตลอด ล่าสุดได้ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดตั้งโครงการลมหายใจเพื่อน้อง เพื่อคืนโอกาสให้แก่เด็กนักเรียนและเยาวชนในช่วงชั้นรอยต่อที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในปี 2565 ให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ระบุว่า ปตท. ได้ช่วยเหลือ แบ่งเบาภาระภาครัฐจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ขึ้นในปี 2564 เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ระบบสาธารณสุขในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด
อย่างไรก็ดี โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ของหลายครัวเรือนลดลง เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมาก มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ปตท. จึงจัดตั้ง “โครงการลมหายใจเพื่อน้อง” ขึ้น โดยตั้งเป้าหมายมอบทุนการศึกษากว่า 150 ล้านบาท ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ให้แก่น้อง ๆ เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จำนวนกว่า 60,000 คนทั่วประเทศ
ทั้งนี้จากความตั้งใจของ ปตท. ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในการลดช่องว่างทางการศึกษาดังกล่าว จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสร้างโอกาสในกิจกรรม PTT Virtual Run เพื่อแปลงกิจกรรมการเดินหรือวิ่งให้เป็นทุนการศึกษา โดยกิจกรรมจะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ 15 พฤษภาคมนี้
“ทุกลมหายใจของเราจะมีคุณค่ายิ่ง หากสามารถช่วยสนับสนุนการศึกษาให้กับน้อง ๆ กว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ปตท. จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกิจกรรม PTT Virtual Run เดินหรือวิ่งสะสมระยะทาง ทุก 1 กิโลเมตร มีมูลค่าเท่ากับ 250 บาท โดย 10 กิโลเมตร จะมีมูลค่าเป็นทุนการศึกษาจำนวน 2,500 บาท ซึ่งสามารถพาน้องกลับโรงเรียนได้ 1 คน” นายอรรถพล กล่าว
ด้าน นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย และขนาดประชากรของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของสภาพัฒน์ทั้งในและนอกระบบการศึกษา มีอยู่มากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งช่วงชั้นรอยต่อระหว่างปีการศึกษาในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุก ๆ ปี คือช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดชะตาชีวิตการเรียนต่อของนักเรียนในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
โดยก่อนปิดภาคเรียนที่ผ่านมา กสศ. สำรวจพบว่ามีนักเรียนในครัวเรือนยากจนพิเศษช่วงชั้นรอยต่อจำนวนราว 60,000 คนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบ ซึ่งการหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควรจะทำให้พวกเขาติดอยู่ในกับดักความยากจน และมีโอกาสสูงมากที่ความยากจนจากรุ่นพ่อแม่จะถูกส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเราเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน (Intergenerational Poverty) ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน
“ในวันนี้ กสศ. จึงขอขอบคุณ ปตท. ที่ให้ความไว้วางใจ กสศ. ในการนำเงินที่ตั้งเป้าหมายไว้จำนวนกว่า 150 ล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุนเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมการบริหาร กสศ. มีนโยบายให้สำนักงาน กสศ. มุ่งใช้ฐานข้อมูล ผลงานวิจัย และผลการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเหนี่ยวนำทรัพยากรและความร่วมแรงร่วมใจจากหน่วยงานภาคีทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืนตามกลยุทธ์ All for Education”
ปตท. และ กสศ. เชื่อมั่นว่าหากเด็กและเยาวชนได้รับโอกาส และสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญที่จะร่วมพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป